” ได้เงาไม่ลืมร่ม ได้พรมไม่ลืมเสื่อ ได้เสื้อไม่ลืมใส่ ได้เป็นใหญ่ไม่ลืมญาติ ” นี่คือหลักในการดำรงชีวิตอย่างหนึ่งที่นักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งยง กำพล วัชรพล ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด รวมทั้งลูกเมียบริวารอื่นๆโดยเฉพาะในเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต้องทำเสมอเพราะเขาถือว่า ถึงแม้มันจะใช่ญาติเป็นชาติเป็นเชื้อ ถ้าไม่เอื้อเฟื้อมันก็ไม่ใช่ญาติ แม้ว่าจะไม่ใช่ญาติชาติเชื้อ แต่ถ้าเอื้อเฟื้อมันก็เหมือนญาติ
กำพล จบการศึกษาชั้นสูงสุดประถมปีที่ 4 มารดามีอาชีพค้าข้าวเรือเร่ ต้องหอบเอาลูกขึ้นล่องไปตามแม่น้ำลำคลองทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีนและแม่กลอง ค่ำไหนนอนนั่น ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ
ก้าวเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์หลักไทย กำพลถูกทดสอบทั้งการให้เป็นพนักงานหาโฆษณา ซึ่งสามารถเจรจากับบริษัทห้างร้านจนได้สัญญาโฆษณา 10 ชิ้น ภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง แล้วยังต้องทำงานอย่างสมบุกสมบัน ในการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว ต้องโหนรถราง บางวันเดินจนรองเท้าสึก บางมื้ออดเพราะไม่มีเงินติดกระเป๋า
ด้วยวิญญาณนักหนังสือพิมพ์ที่หยั่งรู้ถึงความต้องการของผู้อ่าน กำพลจึงออกหนังสือชื่อ นรกใต้ดิน ที่เลิศ อัศเวศน์ เขียนเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์หลักไทย ปรากฏว่าขายดี หนังสือเล่มนี้ใช้เงินลงทุน 2 พันซึ่งมาจากการหยิบยืมบวกกับของตนเอง หักหนี้สินแล้วกำพลยังมีเงินเหลือเป็นกองกลางอีก 6 พันบาท
ต่อมากำพล ได้ปรึกษากับนายเลิศน่าจะออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เพราะพอมีเงิน หาโฆษณาได้ จึงไปจดทะเบียนออกหนังสือพิมพ์ชื่อ ข่าวภาพรายสัปดาห์ โดยใช้ตรากล้องถ่ายรูป สายฟ้า และฟันเฟือง เป็นตราสัญลักษณ์ของหนังสือพิมพ์ที่เขาทำเรื่อยมาจนถึงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในปัจจุบัน
การเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันของกำพล วัชรพล ไม่ได้ราบรื่นหากเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามที่ต้องต่อสู้ฟันฝ่า ในเดือนตุลาคม 2501 ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หนังสือพิมพ์ถูกปิด หัวหนังสือพิมพ์ชื่อ ข่าวภาพบริการถูกยึด พนักงานหลายคนถูกจับขัง โดยไม่มีกำหนดและไม่แจ้งข้อหา สำนักงานและโรงพิมพ์ในซอยวรพงษ์ บางลำพู ถูกไฟไหม้ 2 ครั้งแต่เขาไม่ใช่คนที่จะยอมแพ้อะไรง่ายๆ
นิโคลัส โคลริดจ์ นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังชาวอังกฤษกล่าวถึง กำพล วัชรพล ไว้ในหนังสือ เปเปอร์ ไทเกอร์ส หรือ เสือกระดาษ เมื่อปี 2536 ว่าคนไทย 1 ส่วนในจำนวน 4 ส่วน อ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐทุกวัน ไม่จำกัดชั้นวรรณะหรือระดับการศึกษา และความสัมพันธ์กับเอเย่นต์เป็นไปอย่างสนิทแน่น ความสำเร็จของไทยรัฐมีผลให้กำพลร่ำรวย แม้เขาจะมีอายุกว่า 70 ปี แล้วก็ยังคงเดินทางไปเยี่ยมเยียนเอเย่นต์หนังสือพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ
กำพลได้รับการยกย่องว่าเป็นคนมานะอุตสาหะ ทั้งติดดิน ชอบเล่นตะกร้อกับลูกน้อง เป็นผู้มีสมองดั่งคอมพิวเตอร์ ที่สามารถคำนวณเงินสกุลต่างๆกลับเป็นเงินบาทได้อย่างรวดเร็ว ทั้งเป็นคนใจกว้าง รักเพื่อนพ้อง หากใครตกอยู่ในความลำบากเขาจะช่วยจนถึงที่สุด
หนังสืออินเวสเตอร์ นิตยสารรายเดือนภาษาอังกฤษ ฉบับตุลาคมปี 2512 ยกย่องถึงความเป็นคนติดดินว่าฟังแล้วเหมือนเรื่องโกหกที่กำพล วัชรพล ชอบทำงานกุลี คลุกคลีอยู่กับเด็กเร่ขายหนังสือพิมพ์ คนทำสวน คนแบกและเข็นม้วนกระดาษ แม้กระทั่งภารโรงเก็บกวาดโรงพิมพ์ เป็นที่รู้กันว่าเขามีเงินมหาศาล สามารถบริหารธนาคารได้สัก 2-3 แห่ง แต่กลับพอใจทำหนังสือพิมพ์อย่างเดียว และเพียงฉบับเดียวซึ่งอาจกล่าวได้ว่ากำพลคือไทยรัฐและไทยรัฐคือกำพล
กำพลเป็นคนที่ไม่ยอมอยู่นิ่ง มองการณ์ไกล เขาเป็นผู้เริ่มให้เปลี่ยนระบบการเรียงพิมพ์จากเรียงด้วยมือ มาเป็นเรียงด้วยแสง และมาเรียงด้วยคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน เป็นผู้บุกเบิกนำหนังสือพิมพ์ออกไปถึงมือผู้อ่านด้วยความรวดเร็ว ทำให้หนังสือพิมพ์มียอดจำหน่ายสูงขึ้น จากเดิมปล่อยให้ขึ้นอยู่กับธุรกิจรวมห่อที่ส่งหนังสือพิมพ์ไปถึงผู้อ่านตามมีตามเกิด
ในเรื่องเครื่องพิมพ์ กำพลเปลี่ยนเครื่องพิมพ์แบบเก่า เลทเตอร์เพรส หรือ ฉับแกระ เป็นการพิมพ์ด้วยระบบโรตารี่ และธันวาคมปี 2538 เอมเอแอนโรแลนด์ รุ่นจีโอแมน เครื่องพิมพ์ขนาดยักษ์แบบล่าสุดจากเยอรมันราคา 2,500 ล้านบาทก็เข้ามาอยู่ในอาคารหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นการลงทุนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์วงการหนังสือพิมพ์ไทยทั้งยังเป็นเครื่องพิมพ์ที่ทันสมัยที่สุดในเอเซียอาคเนย์
กำพลสมรสกับคุณหญิงประณีตศิลป์ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2493 มีลูกด้วยกัน 3 คนคือนางยิ่งลักษณ์ วัชรพล นายสราวุธ วัชรพล นางอินทิรา วัชรพล ต่อมากำพลป่วยเป็นเนื้องอกที่ไต ผ่าตัดเนื้อร้ายทิ้ง 2ครั้งแต่อาการกลับทรุดลงเรื่อยๆจนกระทั่งสิ้นใจอย่างสงบเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2539 อายุได้ 76 ปี ปัจจุบันภรรยาคือคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล เป็นบุคคลที่รวยอันดับ21 ของประเทศด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 4.29 หมื่นล้านบาท
วัชร วัชรพล บุตรชายคนโตของยิ่งลักษณ์ เป็นหลานตา คือทายาทรุ่นที่ 3 เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานในอาณาจักรไทยรัฐ ด้วยการบุกเบิกสื่อออนไลน์ ภายใต้บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ที่สะท้อนถึงทายาทรุ่นที่ 3 ดูแลเว็บไซต์ข่าว ไทยรัฐออนไลน์ ควบคู่ไปกับการหาช่องทางการขยายธุรกิจใหม่ๆ
จูเนียร์ หรือ วัชร ขยับก้าวเข้าสู่ธุรกิจเคเบิลทีวี โดยลงทุนร่วมกับกลุ่ม CTH ก่อนประมูลทีวีดิลิตอล ซึ่งถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของไทยรัฐ นับตั้งแต่เคยลงทุนซื้อแท่นพิมพ์ ด้วยงบลงทุนทั้งหมด 6,000 ล้านบาท และตั้งเป้าเป็น 1 ใน 5 ช่องดิจิตอลยอดนิยมภายใน 3 ปี โดยช่วงปีแรกจะงบลงทุนผลิตรายการ1,000 ล้านบาทตั้งเป้าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ต้องติดตาม อีกทั้งจะเดินตามรอยคุณตาอย่างกำพลหรือไม่นี่ยิ่งต้องจับตาอย่าได้กระพริบ!!!
ที่มาของรูปภาพ : munjeed.com
อยากมีบทความดี ๆ แบบนี้ สั่งซื้อเลย รับเขียนบทความ 1000content.com