เหตุผลที่ นายแป๊ะ แซ่ลิ้ม (โอสถานุเคราะห์) ผู้ก่อตั้งบริษัท โอสถสภา (เต็กเฮงหยู) จำกัด เลือกใช้กิเลนเป็นเครื่องหมายการค้าบนผลิตภัณฑ์นั่นเพราะมีความเชื่อที่ว่ากิเลน เป็นสัตว์ที่มาจากสวรรค์ มักจะปรากฏตัวให้เห็นเฉพาะในแผ่นดินมีความสมบูรณ์ ซึ่งกระทั่งวันนี้กิเลนก็ยังเป็นสัตว์มงคลที่นำพาโชคลาภและส่งเสริมให้โอสถสภา กลายเป็นบริษัทชั้นนำที่ผูกพันกับคนไทยมานานกว่าร้อยปี
จุดเริ่มต้นอาณาจักรโอสถสภา ยากฤษณากลั่น
ปี 2434 นายแป๊ะ แซ่ลิ้ม (โอสถานุเคราะห์) เปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ดชื่อ เต็กเฮงหยู ในย่านสำเพ็ง โดยนำสูตรยาตำรับโบราณขนานแท้ของจีนที่มีชื่อว่า ยากฤษณากลั่นตรากิเลน เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จากนั้นได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อใช้ในการซ้อมรบของกิจการเสือป่าที่จังหวัดนครปฐม
ยากฤษณากลั่นตรากิเลน มีสรรพคุณบำบัดรักษาอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระองค์จึงได้พระราชทาน เข็มเสือป่า ให้เป็นรางวัลแก่นายแป๊ะ พร้อมทั้งพระราชทานนามสกุล โอสถานุเคราะห์ ให้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลในปี 2456
เต็กเฮงหยู สู่ โอสถสภา
เมื่อแป๊ะ โอสถานุเคราะห์ถึงแก่กรรม สวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ บุตรชาย เข้าบริหารกิจการแทน โดยสวัสดิ์ ใช้วิชาความรู้จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บวกกับประสบการณ์ของผู้เป็นบิดา ขยับขยายธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น เขาตัดสินใจย้ายร้านจากสำเพ็งไปยังถนนเจริญกรุง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อร้านเป็น โอสถสถานเต็กเฮงหยู
จากเดิมผลิตและขายยากฤษณากลั่นเป็นหลัก สวัสดิ์ได้เพิ่มการผลิตยาสามัญประจำบ้านอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น ยาอมโบตัน ยาทัมใจ ฯลฯ กระทั่งปี 2492 โอสถสถานเต็กเฮงหยู ก็ย้ายฝ่ายผลิตมาอยู่ที่ซอยหลังสวน พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทอีกครั้งเป็น บริษัท โอสถสภา (เต็กเฮงหยู) จำกัด
ต่อมาในปี 2517 บริษัท โอสถสภา ได้รวบรวมกิจการทั้งหมด รวมถึงสำนักงานใหญ่ที่ถนนเจริญกรุงและฝ่ายผลิตที่ซอยหลังสวนให้มาอยู่ที่เดียวกันย่านถนนรามคำแหงจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งยุคของสวัสดิ์ ได้เริ่มนำระบบการตลาดและการโฆษณาเข้ามาใช้อย่างครบถ้วน มีโฆษณาทางวิทยุ พิมพ์โปสเตอร์ ที่โดดเด่นก็คือการทำหนังขายยามาใช้โปรโมทสินค้าทำให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์เนมได้ผ่านการฉายหนัง
ภูมิภาค สู่ นานาชาติ
สวัสดิ์ส่งไม้ต่อให้บุตรชายคือ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ในยุคของสุรัตน์ได้เริ่มติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ มีการขยายไลน์สินค้าจากกลุ่มยาไปสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ และที่สร้างความฮือฮาก็คือ ลิโพวิตัน-ดี เครื่องดื่มให้พลังงาน ที่สุรัตน์นำเข้ามาจำหน่ายจากประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นความกล้าหาญเพราะสมัยนั้นผู้บริโภคชาวไทยยังไม่รู้ด้วยซ้ำเครื่องดื่มให้พลังงานคืออะไร สุรัตน์ทำให้ลิโพวิตัน- ดี กลายเป็นรากฐานผลิตภัณฑ์ตามมาอีกมากมาย อาทิ M-150 เป็นต้น
ปรับผลิตภัณฑ์เข้ายุคไลฟ์สไตล์
ปี 2551 หลังสุรัตน์ถึงแก่กรรม รัตน์ โอสถานุเคราะห์ ก็สืบทอดกิจการต่อเป็นรุ่นที่ 4 รัตน์เริ่มต้นช่วยงานในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการสายการเงินตั้งแต่ปี 2538 ควบคู่กับการบริหารการเงินของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขาพาองค์กรฟันฝ่าคลื่นมรสุมกระทั่งปัจจุบันบริษัทมีแบรนด์ของตัวเองมากกว่า 30 แบรนด์ 100 ผลิตภัณฑ์ จัดจำหน่ายกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
กระนั้นไม่ว่าการบริหารของโอสถสภาจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยหรือกี่รุ่นหากแต่หัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจก็ยังประกอบด้วยปรัชญาดั้งเดิมเพียง 4 ประการ
- มองเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าตนเอง
- คิดถึงน้ำใจของผู้อื่นมากกว่าเงินตรา
- มีความซื่อสัตย์ในการประกอบอาชีพ
- รักษาไว้ซึ่งจรรยาบรรณของธุรกิจ
และด้วยหลักปรัชญาอันเปรียบดังคัมภีร์ของธุรกิจตระกูลโอสถานุเคราะห์ จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทโอสถสภาจะเป็นผู้นำรุ่นบุกเบิกของการทำ CSR (ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร) ก่อนที่คนทั่วไปจะรู้จักกับคำๆนี้ด้วยซ้ำ ทั้งยังสังเกตได้จากความหมายของคำว่า เต็ก เฮง หยู ที่แปลว่าการเจริญเติบโตจากการช่วยเหลือผู้อื่น
ปรับแบรนด์เก่าสู่ชีวิตใหม่
วิสัยทัศน์ของรัตน์ โอสถานุเคราะห์ มุ่งหวังให้ผลิตภัณฑ์สามารถตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ กลยุทธ์ที่เขานำมาใช้ก็คือการปรับภาพลักษณ์แบรนด์เก่ามาสร้างเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์ที่เปลี่ยนไป โดยแบรนด์เก่าแก่ ที่ว่านี้ก็คือ อุทัยทิพย์ ที่เปลี่ยนภาพลักษณ์จากผลิตภัณฑ์ผสมน้ำดื่มมาเป็นเครื่องสำอาง Utip รวมทั้งโบตัน ที่เปลี่ยนมาเป็น Botan Mint Ball
ปี 2551 ธัชรินทร์ โอสถานุเคราะห์ รุ่นเหลนแห่งกิเลน เข้ามาคุมกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เขาพบว่าโอสถสภาดำเนินธุรกิจมามากกว่า 100 ปี แต่คนส่วนใหญ่ฝังใจว่าดำเนินธุรกิจเพียงแต่ยาเท่านั้น ทั้งที่มีบริษัทในเครือกว่า 100 บริษัท และมีสินค้ามากกว่า 100 รายการ
ธัชรินทร์ ได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่องค์กรที่ทันสมัย สลัดภาพธุรกิจยาแต่เพียงอย่างเดียว โดยคิดรูปแบบการสื่อสารผ่านการทำรายการเรียลิตี้ เกมกลยุทธ์ ค้นหาสุดยอดนักการตลาดจากผู้เข้าแข่งทั่วประเทศ
ขณะที่รัตน์ โอสถานุเคราะห์ บอกว่าเกมกลยุทธ์ วัตถุประสงค์ก็เพราะเห็นว่าบริษัทโอสถสภามีแนวคิดและวิธีทางการตลาด และการตัดสินใจการแก้ปัญหาในเชิงการตลาดและธุรกิจในสไตล์ของตัวเอง จึงอยากให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และรู้จักวิธีการแก้ปัญหากับสถานการณ์จริงๆในเวลาทำงาน ซึ่งคนที่ไม่เคยอยู่ในวงการธุรกิจดูแล้วก็หวังอยากเข้ามาทำธุรกิจ และหากมีใจรัก มีความตั้งใจแน่วแน่ทุกคนก็เป็นนักธุรกิจได้
ปี 2556 เพชร โอสถานุเคราะห์ ทายาทสุรัตน์ ซึ่งนั่งเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยกรุงเทพ อีกหนึ่งธุรกิจของครอบครัว
โดยเพชร เล่าถึงหลักในการบริหารว่าตนใช้ประสบการณ์และศิลป์
” ศิลป์ที่ไม่หมายถึงอาร์ต แต่หมายถึงการคิดแบบครีเอทีฟ เพื่อให้ได้ครีเอทีฟโซลูชั่น ผมไม่มีความเป็นเถ้าแก่ ผมไม่ได้ทำเพื่อเงิน ไม่ใช้นักธุรกิจ แต่มีเซนต์ของนักธุรกิจ อ่านเกมได้เหมือนนักธุรกิจ เพียงแต่ไม่ได้โลภเหมือนนักธุรกิจ ผมเป็นแค่ผู้ที่สืบทอดสถาบันแห่งนี้ ที่พ่อกับแม่ก่อตั้ง และอยากเห็นมันก้าวหน้าต่อไปเท่านั้น ” นี่คือความคิดของเพชร ผู้ที่ได้ชื่อว่านักบริหารอินดี้ขวัญใจเด็กแนว
ที่มาของรูปภาพ : osotspalifeisbetter.com
อยากมีบทความดี ๆ แบบนี้ สั่งซื้อเลย รับเขียนบทความ 1000content.com