การหย่าตามกฎหมายในประเทศไทย นั้นอาจแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
-การหย่าโดยความยินยอม หรือการตกลงหย่าระหว่างคู่สามี ภรรยา
-การหย่าโดยคำพิพากษา หรือการฟ้องหย่า
ซึ่งการหย่าแต่ละกรณี ก็จะมีรายละเอียดและวิธีดำเนินการที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ
1.การหย่าโดยความยินยอม
หมายถึง การที่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายต่างตกลงยินยอมที่จะทำการหย่ากันอย่างเต็มใจ กฎหมายกำหนดให้ทำหนังสือบันทึกข้อตกลงที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น ข้อตกลงเรื่องสินสมรส, ข้อตกลงเรื่องอำนาจปกครองบุตร, เรื่องค่าเลี้ยงดู เป็นต้น โดยในหนังสือสัญญา หรือบันทึกข้อตกลงต้องมีพยานลงลายมือชื่อในหนังสือนั้น อย่างน้อย 2 คนตามแบบที่กฎหมายกำหนด และการที่จะทำให้การหย่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหลังจากที่ตกลงเรื่องการหย่าได้แล้ว คู่สมรสที่จะทำการหย่าต้องไป “จดทะเบียนหย่า” ที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ เพื่อให้การหย่ามีผลทางทะเบียนตามกฎหมาย การจดทะเบียนหย่านี้คู่สมรสสามารถทำการจดที่สำนักงานเขตใดก็ได้ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปจดที่สำนักงานเขตเดียวกับที่ได้จดทะเบียนสมรสไว้
จะเห็นได้ว่าการหย่าโดยความยินยอม คล้ายกับการตกลงทำสัญญากันไม่ได้มีข้อกฎหมายยุ่งยาก คู่สมรสสามารถดำเนินการได้เองโดยง่าย จะต่างจากการหย่าโดยอาศัยคำพิพากษาของศาล ซึ่งหมายถึงการดำเนินคดีฟ้องหย่าที่จะต้องดำเนินการทางศาล มีความยุ่งยากซับซ้อนมากมายจำเป็นต้องอาศัยทนายความที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ
2.การหย่าโดยคำพิพากษา
การหย่าโดยคำพิพากษา หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อของ “การฟ้องหย่า” คือกรณีที่คู่สมรสไม่สามารถตกลงสิ้นสุดการสมรสกันได้เอง อาจจะด้วยเหตุที่อีกฝ่ายไม่ยินดีที่จะหย่า, เหตุผลทางการเงิน, ผลประโยชน์หลังการหย่าที่ยังตกลงกันไม่ได้ เป็นต้น ส่งผลให้ฝ่ายที่ต้องการหย่า จำเป็นต้องดำเนินคดีเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้หย่ากันตามกฎหมาย
ขั้นตอน วิธีดำเนินการฟ้องหย่าก็จะคล้ายกับการดำเนินการฟ้องคดีแพ่งอื่นๆ แต่จะมีส่วนที่แตกต่างซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการฟ้องหย่าก็ว่าได้ นั้นคือ “การพิจารณาเหตุหย่าตามกฎหมาย”
หากเราต้องการที่จะฟ้องหย่า ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องมีเหตุการณ์ที่ถือเป็น เหตุหย่าตามกฎหมาย เสียก่อน โดยเงื่อนไขหรือเหตุการณ์ต่างๆที่ถือเป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้ ถูกบัญญัติไว้ชัดเจนในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 ความว่า
เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างการหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”
ในการพิจารณาว่าเหตุที่เราจะใช้อ้างเพื่อฟ้องหย่าคู่สมรสของเราเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่นั้น ในเบื้องต้นเราอาจพิจารณาเองก่อนคราวๆ แต่ในการยื่นฟ้องเราจำเป็นต้องปรึกษาทนายความที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อให้ทนายความปรับข้อเท็จจริงของเราเข้ากับข้อกฎหมาย และทำการร่างคำฟ้อง กำหนดแนวทางการดำเนินคดีต่อไป
เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีและศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว ฝ่ายที่เป็นผู้ฟ้องคดี หรือ โจทก์ต้องทำการเตรียมพยาน หลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามเหตุหย่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
ที่มาของรูปภาพ : catdumb.com
อยากมีบทความดี ๆ แบบนี้ สั่งซื้อเลย รับเขียนบทความ 1000content.com