วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ตรงกับวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนหก หรือวันเพ็ญเดือนวิสาขมาส เป็นวันที่ชาวพุทธระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาสามเหตุการณ์อันได้แก่ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเจ้าชายสิตธัตถะทรงประสูติเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาใต้ต้นสาละในพระราชอุทยานลุมพินีวัน เมื่อ 80 ปีก่อนพุทธศักราช ต่อมาทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใต้ต้นโพธิ์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช และสุดท้ายได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานใต้ต้นสาละ ณ เมืองกุสินารา 1 ปีก่อนพุทธศักราช ซึ่งทั้งสามเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นตรงกันในวันเพ็ญเดือนหกอย่างปาฏิหาริย์ ในวันดังกล่าวชาวพุทธจึงนิยมประกอบพิธีทางพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นการทำบุญตักบาตร การเวียนเทียน การฟังธรรมเทศนา รวมทั้งพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาดังกล่าว
ภาพ : https://plus.google.com/100580553333475157168/posts/ViRrJvQXBTc
วันวิสาขบูชาไม่เพียงแต่เป็นวันสำคัญสากลทางพุทธศาสนาทุกนิกายเท่านั้น ตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติยังกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญในระดับนานาชาติอีกด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีอีกหลายประเทศซึ่งกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น อินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฎาน มาเลเซีย กัมพูชา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย พม่า เป็นต้น ในประเทศไทยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ถึงการประกอบพิธีพุทธบูชาในวันวิสาขบูชาตั้งแต่สมัยสุโขทัยซึ่งได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากประเทศศรีลังกา โดยราชวงศ์กษัตริย์ไทยได้ถือปฏิบัติประเพณีวันวิสาขบูชาสืบเนื่องต่อกันมาจนถึงสมัยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพิธีเวียนเทียน จัดโคมประทีป พิธีสวดมนต์ จรดพระราชนังคัลแรกนาขวัญ พิธีตั้งเปรียญธรรม
สำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทย กิจกรรมที่เป็นที่นิยมในวันวิสาขบูชา ได้แก่ การเข้าวัดฟังธรรมเทศนา บำเพ็ญกุศล เวียนเทียนรอบสถูปเจดีย์ ถวายสังฆทาน รักษาศีล 5 ศีล 8 การนั่งสมาธิเจริญวิปัสสนาเพื่อระลึกถึงพระธรรมอันเป็นคำสอนของพระพุทธองค์
ภาพ : Photoontour – โฟโต้ออนทัวร์
เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชาปีนี้ ในยุคที่โมเดลไทยแลนด์ 4.0 กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่และเข้าถึงข่าวสารต่าง ๆ ผู้เขียนจึงใคร่นำหลักธรรมะซึ่งเห็นว่าเข้ากันกับยุคสมัยมาฝากให้แก่ผู้อ่าน คือหลักกาลามสูตร อันเป็นหลักธรรมซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแต่ชาวกาลามะ หลักกาลามสูตรเป็นหลัก 10 ประการซึ่งสอนไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ โดยงมงาย เพื่อให้ชาวพุทธถึงใช้สติปัญญาพินิจพิจารณาไตร่ตรองดูให้เห็นคุณโทษก่อนจึงตัดสินใจเชื่อ ได้แก่
- อย่าเชื่อเพราะได้ยินตามกันมา
- อย่าเชื่อด้วยการถือสืบต่อกันมา
- อย่าเชื่อด้วยเขาเล่าต่อกันมา
- อย่าเชื่อเพราะเขียนอยู่ในตำรา
- อย่าเชื่อเพราะเดาว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน
- อย่าเชื่อเพราะคาดคะเน
- อย่าเชื่อเพราะคาดเดาจากอาการที่เห็น
- อย่าเชื่อเพราะเป็นไปตามทฤษฎีที่คิด
- อย่าเชื่อเพราะผู้พูดมีลักษณะท่าทางน่าเชื่อถือ
- อย่าเชื่อเพราะนับถือสมณะผู้พูดว่าเป็นครูของตน
แต่ให้ใช้สติปัญญาตรองดูจนรู้แน่ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นมีคุณหรือโทษประการใดแล้ว จึงตัดสินใจละเสียหรือถือปฏิบัติตาม ในยุคที่เกิดสื่อต่าง ๆ หลากหลายช่องทาง หลากหลายรูปแบบ ในการรับชมสื่อใด ๆ ก็ตาม ชาวพุทธควรมีวิจารณญาณและใช้หลักกาลามสูตรไตร่ตรองดูเสียก่อนว่าข่าวสารที่ได้รับนั้นเป็นจริงหรือเท็จ เป็นเหตุเป็นผลหรือไม่อย่างไร น่าเชื่อถือเพียงใด เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อหรือเป็นเครื่องมือของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนจะส่งข่าวสารนั้นต่อหรือแสดงความคิดเห็น