เมื่อเห็นคำว่าปัญหาขยะทะเล หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นปัญหาที่ไกลตัวเรา จริง ๆ แล้ว ปัญหาที่เกิดจากขยะทะเลนอกจากจะเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวทุกคนทั่วโลกแล้ว ยังเป็นปัญหาที่เกิดจากเราทุกคนด้วย ทำไมจึงเป็นปัญหาที่เกิดจากเราทุกคน เนื่องจากขยะทางทะเลนั้นส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากกิจกรรมบนบกถึงร้อยละ 80 และเกิดจากกิจกรรมทางทะเลร้อยละ 20 กิจกรรมทางบกนั้น หมายถึง การที่บ้านเรือน ประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวทิ้งขยะบนบก อาจทิ้งไม่เป็นที่ ทิ้งไม่ลงถัง หรือมีวิธีกำจัดหรือจัดการกับขยะที่ไม่ถูกวิธี เช่น การทิ้งขยะลงไปในแม่น้ำลำคลอง การฝังกลบ ทำให้ขยะบนบกส่วนหนึ่งได้กลายเป็นขยะทะเล
ภาพ : http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/58977/
ส่วนขยะทะเลที่มีอยู่ร้อยละ 20 เกิดจากกิจกรรมทางทะเลของนักท่องเที่ยว และผู้ที่ประกอบอาชีพทางทะเล เช่น การทำประมง การเดินทางท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ การโดยสารและการขนส่งทางเรือ เป็นต้น เมื่อขยะบกและขยะทะเลมารวมกัน บวกกับระบบการบริหารและจัดการกับขยะยังไม่ดีพอ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีปริมาณขยะทะเลเป็นอันดับ 6 จาก 192 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง
แพขยะทะเลเหล่านี้เมื่อลอยน้ำไปสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนและสัตว์ในวงกว้าง เนื่องจากขยะทะเลสามารถลอยน้ำออกไปไกลได้ถึงต่างประเทศ ขยะส่วนใหญ่มักเป็นขยะที่ทำจากวัสดุประเภทพลาสติก เมื่อพลาสติกแตกย่อยจะเป็นปิโตรเคมี และมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ ซึ่งยังคงเป็นสารเคมีแต่มองไม่เห็น เมื่อปลาตัวเล็กหรือแพลงตอนกินเข้าไปก็จะอยู่ในร่างกายของสัตว์เล็ก ต่อมาปลาตัวใหญ่กินปลาตัวเล็ก สารเคมีก็เข้าไปอยู่ในตัวของปลาใหญ่ และเมื่อคนบริโภคปลาใหญ่ ท้ายที่สุดไมโครพลาสติกก็เข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายของคน และส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
สำหรับขยะพลาสติกที่พบเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ถุงพลาสติก ขวดน้ำ ฝาขวดน้ำ ภาชนะบรรจุอาหาร หนังยาง หลอดน้ำ เป็นต้น แนวทางการแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งก็หมายถึงเราทุกคน นอกจากเราจะต้องทิ้งขยะให้ลงถัง ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง และแยกขยะให้ถูกต้องแล้ว เราทุกคนควรลดการใช้ขยะ ซึ่งหากเป็นไปได้ควรลดการใช้วัสดุที่ทำจากพลาสติก หรือใช้แล้วใช้ซ้ำอีก หรือที่เราเรียกกันว่าการนำกลับมาใช้ใหม่ หากเราทุกคนสร้างขยะโดยไม่มีจิตสำนึก ทุกวันเราจะสร้างขยะถึงวันละ 1.1 กิโลกรัมต่อคน ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน
ภาพ : http://thaipublica.org/
นอกจากนี้ หน่วยงานหลัก เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจัง ซึ่งจริง ๆ แล้วถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายทาง แต่ก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ เช่น การร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ทางทะเลช่วยกันบริหารจัดการขยะทะเลให้หมดสิ้น และร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการกับขยะที่ต้นทาง เพื่อรณรงค์ไม่ให้มีการทิ้งขยะไม่เป็นที่หรือกำจัดขยะให้ถูกวิธี ในส่วนของหน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชนควรมีการประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ให้ประชาชนลด ละ เลิกการใช้ขยะพลาสติก ซึ่งหากทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนให้ความร่วมมือกัน ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากขยะบกและขยะทะเลจะต้องหมดสิ้นไปอย่างแน่นอน