” ชีวิตนั้นครึ่งหนึ่งเป็นบัญชาจากสวรรค์ อีกครึ่งหนึ่งเป็นแรงลิขิตของตัวเอง ” คีรี กาญจนพาสน์ เคยพูดไว้แบบนี้หาใช่เพราะเขารวยเป็นอันดับ12ของประเทศ ผู้มีทรัพย์สินกว่าห้าหมื่นล้าน หากแต่ชายคนนี้คือคนที่นำรถไฟฟ้าบีทีเอสเข้ามาใช้ในเมืองไทยเมื่อ16 ปีที่แล้ว
คีรีแม้จะเกิดบนกองเงินกองทองแต่เขากลับไม่ต้องการที่จะให้ใครๆรู้จักแค่ลูกชายของมหาเศรษฐีอย่าง มงคล กาญจนพาสน์ เจ้าของธุรกิจนาฬิกาเท่านั้น เขาอยากสร้างความสำเร็จและเป้าหมายด้วยตนเอง และด้วยความเกกมะเหรกเกเรในช่วงวัยรุ่นจึงเรียนจบแค่ไฮสกูล เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 19 ถูกส่งไปทำงานในโกดัง ถูกฝึกให้ทำงานหนักเหมือนกุลีและเขาก็ได้เรียนรู้ ได้เปลี่ยนความรุนแรงก้าวร้าวของตัวเองให้กลายเป็นความดิ้นรนพยายาม ขณะที่พี่น้องต่างได้เรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ
คีรีได้เรียนรู้ความซับซ้อนในธุรกิจ เรียนรู้เกี่ยวกับผู้คนที่กระตือรือร้นและเคลื่อนไหว ทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับอำนาจและประสิทธิภาพของการทำงาน
” พ่อเป็นคนสุขุม มองการณ์ไกลมากและไม่ถือตัว เราจะคุยกันแบบนักธุรกิจ ทุกคนมีสิทธิ์จะให้เหตุผลซึ่งต้องฟัง ผมก็ใช้ลักษณะนี้ในที่ทำงานของผม ” คีรีเล่าถึงพ่อผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง
คีรีไม่เคยให้ความสำคัญกับการค้ารายเดียวหรือเป้าหมายเพียงเป้าเดียว เพราะอะไรก็ผิดพลาดได้เสมอ แม้มีแผนการที่รอบคอบหรือดูมั่นคงมีหลักประกันมากเพียงใดก็ตาม ดังนั้นบริษัทจึงมีการแตกตัวเองจากแกนหลักด้านธุรกิจการค้าไปสู่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กิจการโรงแรมและการบริหารโครงการต่างๆทั้งในฮ่องกงและกรุงเทพ
ในเรื่องการเงิน คีรีเชื่อในการจ่ายเงินในสิ่งที่ต้องจ่าย แต่ถ้าสิ่งใดไม่ควรเสียแล้วไม่จำเป็นต้องเสีย เขาจะมีความระมัดระวังอย่างมาก คีรีได้เรียนรู้จากพ่อว่าเงินทุกบาททุกสตางค์มีค่า เพราะว่าเงินร้อยบาทอาจจะเพิ่มเป็นหมื่นเป็นแสนได้
ชีวิตเป็นเรื่องเปราะบาง ความสำเร็จก็เปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ยิ่งมีแต่จะทำให้ชีวิตมันเปราะบางมากขึ้น ความน่าตื่นเต้นที่แท้จริงคือก้าวต่อไปอย่างระมัดระวัง นี่คือสิ่งที่เจ้าของรถไฟฟ้าบีทีเอสตระหนักในการสร้างปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในอาณาจักรธุรกิจมูลค่านับหมื่นๆล้านที่พลาดไม่ได้แม้แต่ก้าวเดียว
ปี 2542 คีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหารบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ควักทุนตัวเองกว่า 5 หมื่นล้านบาทลงทุนระบบขนส่งมวลชนสายแรกของประเทศไทย รถไฟฟ้า BTS
ธันวาคม 2552 ครบ10ปีที่ BTS ได้สร้างประวัติศาสตร์เปิดให้บริการ สำหรับเจ้าของคนลงทุนต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมากมายกว่าจะฝ่าฟันถึงฝั่งฝัน
” คำพูดที่คนนอกบอกว่า บีทีเอสดูจะเป็นบวกไปหมดถึงวันนี้คงสมเหตุสมผลกับคำชมที่ควรจะได้ ที่ผ่านมามีอุปสรรคเยอะเหลือเกิน โดยเฉพาะอุปสรรคด้านการเงินการเมืองรวมแล้ว 7-8 ปี กว่าผมจะหายใจได้ ถ้าจะบอกว่าโชคช่วย หรืออะไร แต่ผมว่าการทำธุรกิจแบบนี้มันไม่มีฟลุกอยู่ที่วิชั่นและความกล้ามากกว่า ” คีรีเปิดใจพร้อมถอนหายใจยาวในวันที่บีทีเอสเปิดให้บริการครบ10ปี
คีรีบอกว่าความสำเร็จของรถไฟฟ้าบีทีเอส คือมีจุดหมายปลายทางชัดเจน โดยยึดแนวเส้นทางเกาะแหล่งช็อปปิ้ง โรงแรม ออฟฟิศ โรงเรียน และศูนย์กลางคนเมืองอย่างสถานีสยามสแควร์ มาบุญครอง เอ็มโพเรียม ที่คนอยากขึ้นบีทีเอสเพราะพวกเขามีจุดหมายที่จะไป
พนักงานบีทีเอสทุกคนมีความตั้งใจและมุ่งมั่น ทุกคนอยากบริการผู้โดยสารให้ดีที่สุด ” ผมเชื่อว่ามาจากตั้งใจจริงและต้องการบริการให้กับสังคม ให้คนได้เดินทางเร็ว สะดวก และปลอดภัย เสียงคอมเพลนจากผู้โดยสารแทบจะไม่มี ผมภูมิใจและมีความสุขกับตรงนี้มาก ผมสัมผัสได้ ” นั่นคือเสียงจากคีรี ในวันที่เขามีความสุข ก่อนจะเล่าถึงการอบรมพนักงาน
พนักงานใหม่ของบีทีเอสต้องเข้าคอร์สอบรมเพื่อผ่านการเทรนเป็นเวลา 2-3 เดือน โดยแจกใบประกาศนียบัตรให้ ซึ่งหลักสูตรนี้ดูแลแม้กระทั่งการทำผม การพูดจา การปฏิบัติ การต้อนรับ จนทุกคนเข้าใจถึงหน้าที่และจิตบริการของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูแล้วง่ายแต่เด็กคือเด็กต้องค่อยๆสร้าง ค่อยๆบอกให้พวกเขาภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ
10 ปีที่คีรีบอกว่ามีทั้งสุขและทุกข์ แต่ตอนนี้ความสุขเริ่มจะมากกว่า เขาได้เห็นถึงคุณค่าบุคลากร หลังจากได้สัมผัสใกล้ชิด ภูมิใจที่ได้ฝึกพนักงานใหม่สำเร็จหลายรุ่น โดยใช้เวลาเทรน 2 เดือน ก่อนออกปฏิบัติงาน การฝึกคนทำได้ทั้งผู้หญิงผู้ชายมีทั้งคนขับรถไฟฟ้า ผู้ให้บริการตามสถานีขายตั๋ว แม้กระทั่งพนักงานรปภ. ยังต้องฝึก
งานบริการประชาชนเป็นงานที่ทำยากถ้าราคาขึ้นคนก็ไม่แฮปปี้ แต่ถ้าราคาไม่ขึ้นเจ้าของธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ ” 10 ปีมานี้ผมกลับรู้สึกว่ารักบริษัทนี้มากขึ้นๆ พนักงานทุกคนมีความสามัคคีจริงใจกับงาน ที่สำคัญพวกเขารู้สึกภูมิใจกับงานมาก ผมถึงบอกว่าผมทำงานมาเยอะ งานนี้ภูมิใจที่สุด ความสุขแบบนี้คือสิ่งที่ได้มาเป็นประสบการณ์ตรงเรื่องคนล้วนๆ ” คีรี ทิ้งท้ายก่อนส่งไม้ต่อให้ทายาท
กวิน กาญจนพาสน์ ลูกชายคนโตของคีรี ผู้เดินเคียงบ่าเคียงไหล่พ่อ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคาร และเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในปี 2545 ทั้งเพิ่มทุน ลดทุน การดึงผู้ลงทุนรายใหม่เข้าถือหุ้น การขายทรัพย์สิน ที่ดินและหุ้นของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ
“ ตอนเราเจอวิกฤตหนัก ผมบอกว่ายอมแพ้ ทำอย่างอื่นดีกว่า แต่คุณพ่อไม่ใช่ ท่านสอนว่าตอนนี้เราอยู่ในบ้าน เมื่อมีคนข้างนอกจะมายึดบ้านของเรา เราอาจจะไม่มีอาวุธ ไม่มีปืน แต่เรายังมีไม้จิ้มฟัน อย่างน้อยก็จิ้มให้เจ็บก่อน ท่านเป็นคนที่พูดอะไรแล้วทำจริง สุดท้ายเราก็เอาชนะได้ด้วยไม้จิ้มฟันจนถึงวันนี้ที่มีปืน ” กวิน เล่าถึงคำสอนของพ่อ ,ชายผู้ให้กำเนิดมังกรยักษ์ที่เลื้อยพาดผ่านฟากฟ้ากรุงเทพมหานครเมื่อ16 ปีที่แล้ว
ที่มาของรูปภาพ : oknation.net
อยากมีบทความดี ๆ แบบนี้ สั่งซื้อเลย รับเขียนบทความ 1000content.com