เคยสงสัยบ้างไหมว่า ทำไมพี่น้องท้องเดียวกันถึงมีอุปนิสัยและบุคลิกภาพที่ไม่เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่ก็เลี้ยงโตมาด้วยกันแท้ ๆ ทำไมในการสมัครงานทุก ๆ องค์กรจึงต้องให้กรอกว่าคุณเกิดเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ นั่นเป็นเพราะลำดับการเกิดส่งผลต่อบุคลิกภาพของคน ๆ นั้นไม่น้อยเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นลูกคนเดียว, น้องคนเล็ก, พี่คนโตหรือลูกคนกลางก็ตาม ความคาดหวัง, การดูแลเอาใจใส่และภาระหน้าที่ที่ได้รับจากพ่อแม่ไม่เหมือนกันแน่นอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรรู้และเข้าใจธรรมชาติของลูกแต่ละคนและเอาใจใส่เขาอย่างเหมาะสม เช่น
- ลูกคนเดียว: ตามประสาลูกโทนที่มักจะถูกตามใจ, ไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพี่น้อง ทำให้เลือกจะให้และรับตามแต่ความต้องการของตนเป็นหลัก, เข้าสังคมยากและหลาย ๆ คนมักกดดันตัวเองด้วยการอยากจะทำสิ่งต่าง ๆ ให้พ่อแม่ภูมิใจ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรพาลูกคนเดียวออกไปเจอสังคมและให้เขาได้ปรับตัวกับคนอื่น ๆ บ้าง ตลอดจนลดการตามใจและไม่ต้องคาดหวังในตัวเด็กมากจนเกินไป
- น้องคนเล็ก: นอกจากลูกคนเล็กจะมีบุคลิกร่าเริง, เป็นเด็กอยู่เสมอ, เอาแต่ใจและไม่ค่อยต้องรับผิดชอบอะไรมากเท่าพี่ ๆ แล้ว โดยส่วนใหญ่ น้องคนเล็กจะมีบุคลิกซ้อนหลายอย่างจากพฤติกรรมเลียนแบบคนรอบข้างที่มีหลายคน ไม่ว่าจะพ่อ, แม่และพี่ ๆ ดังนั้นการเลี้ยงดูลูกคนเล็ก พ่อแม่จึงต้องหัดให้เขารู้จักเป็นผู้ให้บ้าง และควรให้เขาได้ช่วยงานบ้านพี่ ๆ ด้วยเช่นกัน
- พี่คนโต: ด้วยความที่เป็นลูกคนโต จึงมักเป็นความหวังของพ่อแม่และญาติ ๆ อีกทั้งยังได้รับมอบหมายให้เป็นตัวอย่างที่ดีของน้อง ๆ ทำให้ลูกคนโตส่วนใหญ่มักเป็นคนที่จริงจังกับชีวิต, มีความรับผิดชอบสูง, เครียดง่าย, ขี้กังวลและตกใจง่ายกว่าน้อง ๆ ดังนั้นในการเลี้ยงดูลูกคนโต พ่อแม่ไม่ควรกดดันด้วยความหวังกับลูกมากเกินไป และควรแบ่งหน้าที่หรืองานบ้านต่าง ๆ ที่เคยให้ลูกคนโตทำคนเดียวนั้นมาให้น้อง ๆ ได้ร่วมรับผิดชอบและแบ่งเบาบ้าง
- ลูกคนกลาง: ตามธรรมชาติของครอบครัวที่ผ่านการมีลูกคนแรกมาแล้ว ลูกคนกลางอย่าง Wednesday Child จึงมักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจมากเท่าไหร่ ซึ่งกลับทำให้ลูกคนกลางมักจะเป็นคนมองโลกแง่ดี, ไม่ถูกคาดหวังมากเหมือนลูกคนโตและสามารถดูแลน้องได้ พร้อม ๆ กับรู้จักวิธีรับมือกับความจริงจังของพี่คนโต ทำให้ลูกคนกลางมักจะเป็นคนประนีประนอมและไม่ชอบแข่งขันกับใคร ในการดูแลลูกคนกลาง พ่อแม่จึงควรมอบความรักและเอาใจใส่เขาไม่น้อยไปกว่าลูกคนอื่น ๆ และหมั่นหากิจกรรมทำร่วมกันบ่อย ๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าลำดับการเกิดของลูกจะเป็นอย่างไร สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้และให้กับลูกทุก ๆ คน ก็คือความเท่าเทียมในการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกน้อยทั้งกิจกรรมที่สนใจ, การพูดคุยหยอกล้อและการดูแลเอาใจใส่ ตลอดจนยอมรับว่าพื้นฐานด้านต่าง ๆ ของเด็กไม่เหมือนกัน และอย่านำมาเปรียบเทียบเด็ดขาด เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจได้ ที่สำคัญ ต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ลูกน้อยแสดงออกมาคือภาพกระจกที่สะท้อนการเลี้ยงดูของพ่อแม่นั่นเอง