เมื่อพูดถึงขนมไทยหลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงแต่ขนมทองหยิบ ทองหยอดหรือฝอยทองเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วขนมไทยนับว่ามีหลากหลายมาก แต่ขนมบางอย่างก็หาคนทำเป็นยาก ยิ่งการทำเพื่อวางขายก็ยิ่งยากเข้าไปอีกจนทำให้ขนมไทยบางชนิดแทบจะสูญหายไปแล้ว ซึ่งจะขอนำเสนอขนมไทยที่บางคนยังไม่เคยรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อมากก่อน ดังนี้
- ขนมตะลุ่ม ซึ่งมีลักษณะเป็นขนมถ้วยหน้าสังขยา ขนมชนิดนี้มีประวัติมายาวนานกว่าร้อยปี โดยตัวขนมจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนตัวขนมที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้า ผสมกับแป้งเท้ายายม่อมและแป้งมันสำปะหลัง น้ำปูนใสและหางกะทิ ผสมเข้ากันแล้วนำไปนึ่งในถ้วยขนมจนสุก แล้วราดด้วยตัวหน้าซึ่งทำมาจากหัวกะทิ ไข่เป็ด น้ำตาลปี๊บและเกลือเล็กน้อย เติมแป้งข้าวเจ้าลงไปเล็กน้อย นึ่งต่อจนสุกเป็นขนมที่มีรสหวานในส่วนตัว มันและหอมกะทิจากส่วนหน้า ควรรับประทานรวมกันในคำเดียว
- ขนมดอกโสน ขนมโบราณที่มีเฉพาะในช่วงของหน้าดอกโสน เพราะถูกใช้เป็นส่วนผสมหลักในการทำขนม ขนมดอกโสนมีชื่อในภาษามอญว่ากวานกาวอะรอย ซึ่งต้นโสนเป็นพืชพื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วไปและจะออกดอกสีเหลืองสะพรั่งในช่วงหน้าฝนจนถึงต้นฤดูหนาวเท่านั้น วิธีทำนำดอกโสนมาเติมเกลือป่นและแป้งข้าวเจ้า ผสมทุกอย่างให้เข้ากัน พรมน้ำเปล่าหรือน้ำลอยดอกมะลิลงไปพอให้แป้งชื้นและคลุกเคล้าง่าย เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้วนำผ้าขาวบางปูรองลงในลังนึ่ง วางใบเตยลงบนผ้าขาวบางอีกชั้น นำส่วนผสมดอกโสนเทลงทับใบเตย นึ่งไฟกลางจนสุก เวลารับประทานจะทานคู่กับน้ำตาลผสมเกลือและมะพร้าวขูดฝอย
- ขนมพระพาย เป็นขนมไทยโบราณที่นิยมใช้ในพิธีแต่งงานในสมัยโบราณ ตัวขนมได้มาจากการผสมแป้งข้าวเหนียวกับน้ำเปล่าหรือน้ำลอยดอกไม้ จากนั้นนำไปใส่ไส้ที่ได้จากการกวนถั่วเขียวกับน้ำตาลและน้ำกะทิเข้าด้วยกัน ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ นำไปต้มให้สุก ทานคู่น้ำกะทิที่ทำมาจากหัวกะทิปรุงรสด้วยน้ำตาลและเกลือ ซึ่งหน้าตาของขนมจะคล้ายกับขนมบัวลอยนั่นเอง
- ขนมแดกงา หลายคนได้ยินชื่ออาจมีตกใจ แต่ชื่อขนมแต่โบราณชนิดนี้ถูกเรียกเช่นนี้จริง ๆ เป็นขนมพื้นบ้านของสุโขทัย ลักษณะของขนมจะเป็นก้อนกลม ๆ ใส่ไส้และคลุกส่วนผสมของงา ส่วนผสมของแป้งภายนอกทำมาจากแป้งข้าวเหนียวและน้ำเปล่าหรือน้ำลอยดอกไม้ ผสมแค่พอนวดได้ ส่วนผสมของไส้ทำมาจากการกวนระหว่างมะพร้าวขูดฝอย น้ำตาลและน้ำเปล่ากวนจนข้นเหนียว นำส่วนผสมของแป้งไปนึ่งบนไฟกลางให้สุก ผึ่งแป้งให้เย็น ใส่ไส้แล้วนำไปคลุกกับงาคั่วที่ผสมเกลือเล็กน้อยเอาไว้
จึงจะเห็นได้ว่าขนมไทยนั้นมีอยู่หลากหลายตามแต่ละพื้นถิ่นของแต่ละภูมิภาค ซึ่งด้วยความที่ไม่ได้รับความนิยม หรือหาทานยากเพราะขึ้นตามฤดูกาลเท่านั้น ทำให้ขนมหลายอย่างหาทานยากขึ้นทุกวัน ซึ่งนับว่าเป็นภูมิปัญญาไทยที่ควรได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างมาก