“ความรักศักดิ์ศรี รักไม่มีพรมแดน รักไม่มีศาสนา” เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงดังร่วมสมัยที่ชื่อบุพเพสันนิวาส ทำให้สาว ๆ หลายคนชวนฝันไปกับความรักที่สุกงอมและเริ่มลั่นระฆังวิวาห์ แต่ก่อนที่จะเลือกจรดปากกาในทะเบียนสมรสเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายของเขานั้น ผู้หญิงยุคดิจิตอลต้องฉลาดและรอบรู้ข้อดีและขีดจำกัดบางอย่างของทะเบียนสมรสกันไว้บ้าง จะได้ตัดสินใจได้ถูกว่าควรจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสดีกว่ากัน
- เมื่อจดทะเบียนสมรสจะได้สิทธิ์ในการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างไรบ้าง: ตามหลักกฎหมายไทย หากชายหญิงได้ทำการจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นถือเป็นสินสมรสร่วมกันทั้งหมด และหากมีทายาทก็ไม่ต้องไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรหรือฟ้องร้องที่ศาลให้มากความ
- อะไรคือสินสมรสที่ภรรยาพึงได้รับสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมาย: สมมุติว่าสามีของเจ้าสาวเป็นเจ้าของกิจการโกดังให้เช่า หลังจากวันที่จดทะเบียนสมรส รายได้จากค่าเช่าโกดังต่าง ๆ และดอกเบี้ยในธนาคาร ตลอดจนเงินเดือนประจำของสามีนั้น ภรรยาตามกฎหมายจะมีสิทธิ์ร่วมครึ่งหนึ่งทันที ส่วนสินส่วนตัวของแต่ละคนก็ยังเป็นสิทธิ์โดยชอบของบุคคลนั้น ในทางกลับกัน หากสมรสกันไปสักระยะหนึ่งและภรรยาได้รับมรดกเป็นที่ดินมูลค่ากว่า 30 ล้าน ทรัพย์สินมรดกที่ดินนี้คือสินส่วนตัวของภรรยาและไม่ถือเป็นสินสมรสร่วมของสามีแต่อย่างใด เว้นแต่ภรรยาจะนำที่ดินดังกล่าวไปแบ่งเช่าและเกิดเป็นรายได้มูลค่า 1 ล้าน เมื่อนั้นจึงถือเอารายได้เป็นสินสมรสร่วมกันคนละ 5 แสนบาท
- การจดทะเบียนสมรสมีประโยชน์ต่อบุตรอย่างไรบ้าง: ที่สำคัญ การจดทะเบียนสมรสของเจ้าสาวยังช่วยคุ้มครองไปถึงบุตรด้วย เพราะโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น บุตรเป็นของแม่อยู่แล้ว แต่หากไม่จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อมีบุตรร่วมกันก็ต้องให้สามีเซ็นทะเบียนรับรองบุตร หากมีปัญหาใด ๆ ระหว่างนั้นก็ต้องไปยื่นต่อศาลเพื่อให้พิพากษาว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของเขาอีก
- จดทะเบียนสมรสแล้ว เจ้าบ่าวมีหนี้ติดพนันบอลขึ้นมา ภรรยาต้องร่วมรับผิดชอบจริงหรือ: เจ้าสาวหลายคนก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่า หากอยู่กินกันไปเรื่อย ๆ แล้วฝ่ายชายไปติดหนี้พนันอะไรก็ตามขึ้นมา สาว ๆ จะต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่ แท้จริงแล้วหากสามีติดหนี้หรือไปทำนิติกรรมต่าง ๆ จนเป็นภาระหนี้สินขึ้นมา แต่ไม่ได้นำเงินนั้น ๆ มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร, ค่าน้ำค่าไฟ หรือค่าเลี้ยงดูบุตร ก็ไม่ถือเป็นสินสมรสแต่อย่างใด ภรรยาไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ต้องใช้เวลาในการสืบสวน ในทางกลับกันหากเป็นหนี้จากการพนันต่าง ๆ และได้นำเงินนั้นมาใช้จ่ายในบ้านจริง เจ้าหนี้ก็สามารถเข้ามายึดทรัพย์ แต่ได้ไปแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะกฎหมายจะให้ความคุ้มครองส่วนของภรรยาไว้นั่นเอง
- จดทะเบียนแล้ว รายได้จะกลายเป็นสินสมรสทั้งหมดจริงหรือ: หากสาว ๆ ไม่อยากให้เงินได้ทุกอย่างที่หามาหลังสมรสกลายเป็นสินสมรสทั้งหมด ก็ให้นำเงินไปซื้อเครื่องประดับ สร้อยเพชรหรือแหวนทองคำแท้แทน เพียงเท่านี้ก็เปลี่ยนจากสินสมรสเป็นสินส่วนตัวแล้ว ในทางเดียวกัน หากสามีจะนำเงินรายได้ของเขาไปซื้อนาฬิกาหรู ๆ, ปืนหรือไม้กอล์ฟยี่ห้อดัง ๆ เป็นของสะสมก็สามารถทำได้และถือเป็นสินส่วนตัวของเขาเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าสาว ๆ จะตัดสินใจเลือกจดทะเบียนสมรสหรือไม่นั้น สิ่งแรกที่ควรทำคือการเปิดใจคุยกันตรง ๆ กับฝ่ายชายและร่วมรับรู้ถึงทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีอยู่ก่อนที่จะสมรสโดยไม่ต้องปกปิดกัน เผื่อว่าวันหนึ่งข้างหน้ามีปัญหาในการร่วมชีวิตก็จะได้รู้ว่าอะไรคือสินส่วนตัวและอะไรคือสินสมรส แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้ความรักจืดชืดและอับปางลง แต่จะดีกว่าไหม หากทุกอย่างโปร่งใสตั้งแต่แรกและช่วยทำให้การเลิกราเป็นธรรม, ชัดเจนและสบายใจกับทั้ง 2 ฝ่ายมากขึ้น