ชื่อของ บุญชัย เบญจรงคกุล กลับมาสู่ความสนใจและเป็นประเด็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ของผู้คนในทุกวงสังคมอีกครั้ง จากการประกาศแต่งงานครั้งใหม่กับว่าที่ภรรยาคนที่ 6 ซึ่งเป็นดารานักแสดงสาวสวยอย่าง ตั๊ก บงกช คงมาลัย แต่ชีวิตของเจ้าสัวบุญชัย ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากกว่าที่เห็นและเป็นอยู่
พี่ใหญ่ คือชื่อที่น้องๆหรือลูกน้องเรียกขานบุญชัย เขาผู้ซึ่งมีบุคลิกนิ่มนวล ประนีประนอม ผ่านชีวิตที่ต้องเผชิญความยากลำบากมาแล้วหลายครั้ง นั่นเพราะภายใต้คำว่า พี่ใหญ่ ที่ต้องรับผิดชอบดูแลและแก้ปัญหาหนี้สินรวมถึงการสืบทอดกิจการของตระกูล ถือเป็นความท้าทายที่เขาต้องเผชิญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้จากการทำธุรกิจ ของพ่อและแม่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของบุญชัยโดยตรง “ พ่อจะไม่สอนพวกเราแบบตรงๆ อย่างเวลาที่ท่านไปไหน ไปค้าขายหรือไปคุยธุรกิจกับใคร ท่านจะพาพวกเราไปหมด ตอนเด็กๆก็คิดว่าเป็นส่วนเกิน แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้มาตลอด ” บุญชัยเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กเมื่อครั้งเดินตามหลังพ่อ
วิธีการของพ่อซึ่งดำเนินไปในแบบที่บุญชัย เรียกว่า ความทุกข์ยาก คือให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง พ่อจะไม่บอกว่านี่คือการสอนแต่จะใช้วิธีสอนเหมือนกับสอนนาวิกโยธิน
ขณะที่แม่ ผู้ซึ่งอิทธิพลทางความคิดและช่วยหล่อหลอมประสบการณ์ทางธุรกิจให้แก่บุญชัย แม่เป็นทั้งเจ้าของกิจการโรงน้ำแข็งและเจ้าของตลาดสดท่าดินแดง ซึ่งใช้โมเดลของการพัฒนาที่ดินผสมกับสร้างชุมชนย่อยๆคือเป็นทั้งแหล่งค้าขาย และที่พักอาศัย มีพ่อค้าแม่ค้ามาแลกข้าวของเครื่องใช้กัน
“ ตอนเด็ก เมื่อถึงวันหยุด แม่ส่งให้พวกเราไปยืนในตลาดสดท่าดินแดง ทำหน้าที่แลกคูปองให้กับพ่อค้าแม่ค้า แจกให้ลูกค้าเพื่อมาแลกของใช้ เราก็คิดว่าทำไมเราไม่ได้ไปเที่ยว ไปดูหนังเหมือนคนอื่น แต่นั่นคือการสอนเราให้รู้เรื่องของกลไกการตลาดในอีกรูปแบบหนึ่ง ” บุญชัย ย้อนความหลังการสอนทำธุรกิจในแบบฉบับของแม่
หลังเรียนจบบริหารธุรกิจจากบอสตันยูนิเวอร์ซิตี้ บุญชัย กลับมาช่วยกิจการของครอบครัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ สุจินต์ เบญจรงคกุล ผู้เป็นพ่อล้มป่วยลงและจากไปพร้อมกับการทิ้งภาระหนี้สินจำนวนกว่า 300 ล้านบาท ให้เด็กหนุ่มบุญชัยในวัย 27 ปีเป็นผู้สานต่อ
บุญชัยใช้เวลา 7 ปีเต็มกับการแก้ปัญหานำบริษัทยูคอมซึ่งเป็นตัวแทนขายอุปกรณ์วิทยุกับหน่วยงานภาครัฐให้ฟื้นกลับมาก้าวไปสู่ยุคของการเติบโต โดยเริ่มแก้ปัญหาด้วยการว่าจ้างมืออาชีพ 10 กว่าคน เข้ามาร่วมงานเพื่อสานต่อกิจการที่จำเป็นต้องใช้สายสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง
การประสบความสำเร็จจากการใช้มืออาชีพในครั้งนั้น กลายเป็นจุดเริ่มของการขยายธุรกิจ และการเข้าสู่การทำงานร่วมกับมืออาชีพในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ เป็นช่วงที่จำเป็นต้องมีมืออาชีพเพราะเขาจะไม่สนับสนุนบริษัทที่บริหารงานโดยครอบครัว กลัวจะไม่มีความโปร่ง ใส ไม่มีความคล่องตัว ไม่มีการขยายแนวคิด นั่นทำให้บุญชัยเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอาศัยมือไม้จากบรรดามืออาชีพ
ต่อมาเกิดความขัดแย้งขึ้นบุญชัยได้ยึดอำนาจในบริษัทแทคคืนจากมืออาชีพ แทค ซึ่งเปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำที่เชื่อมโยงโดยตรงกับยูคอม การสูญเสียแทคย่อมเหมือนกับสูญเสียยูคอม กิจการของตระกูลเบญจรงคกุลและเป็นธุรกิจที่เขาสร้างขึ้น 40 ปี
ปี2543 เป็นปีที่บุญชัยต้องกลับมารับช่วงกิจการต่อจากมืออาชีพ แต่การกลับมาของเขาในฐานะของพี่ใหญ่ เป็นการรับช่วงกิจการยากลำบาก เพราะบริษัทมีภาระหนี้สินหลายหมื่นล้านบาท ทั้งยังถูกปกครองโดยมืออาชีพมาเกือบ 10 ปี มีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญ และเห็นประโยชน์ของมืออาชีพมากกว่าเจ้าของกิจการ
วิธีการแก้ปัญหาคือการหาพันธมิตร และสิ่งแรกที่บุญชัยทำหลังจากได้เทเลนอร์มาเป็นพันธมิตร ก็คือการสร้างความคิดเห็นร่วมกันของผู้บริหารทั้งหมดเพื่อตอบรับต่อการมาของเทเลนอร์
“ ผมพูดกับผู้บริหารทั้งหมดสามร้อยกว่าคนไว้ตั้งแต่แรกเลยว่า เราไม่ใช่เจ้าของกิจการอีกแล้ว แต่เป็นลูกจ้าง ผมก็เป็นลูกจ้าง และการแข่งขันที่เรากำลังเผชิญไม่ใช่เรื่องเล่นๆอีกต่อไป ”
จากนักธุรกิจและผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยที่รู้จักกันดี มีชีวิตประจำวันในห้องประชุมอยู่กับการตัดสินใจ กู้เงินมาลงทุน การสั่งจ่ายเงินจัดซื้ออุปกรณ์ และรับรายได้มูลค่านับหมื่นล้านบาท ติดอันดับต้นๆในทำเนียบเศรษฐีเมืองไทย
บุญชัยหันมาทำธุรกิจขนาดย่อมลงมากว่าเดิม ด้วยการลงทุนตามศักยภาพเงินลงทุนที่เพียงพอจะทำได้ มีชีวิตส่วนตัวส่วนใหญ่หมดไปเพื่องานสังคม เกื้อกูลต่อชาวไร่ ชาวนา ด้วยระบบสหกรณ์ ในนามของมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกัน การผลักดันให้ทุนนักเรียนในชนบทศึกษาจบแล้วกลับบ้านพัฒนาท้องถิ่นในโครงการสำนึกรักบ้านเกิด
พี่ใหญ่ หรือบุญชัย ผ่านพ้นความรู้สึกยึดติด และยอมยุติความเป็นเจ้าของในธุรกิจที่รุ่นพ่อสร้างมา โดยตัดใจขายทิ้งทั้งยูคอม และดีแทค เพราะไม่อาจต่อสู้กับกระแสการแข่งขันในธุรกิจสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือได้ โดยเมื่อตุลาคม 2548 กลุ่มเทเลนอร์ที่ได้เข้าถือหุ้นในยูคอมและดีแทคก็เทกโอเวอร์ทั้งหมดด้วยมูลค่าการซื้อขายหุ้นครั้งนั้นประมาณ 9,000 ล้านบาท
“ ในหลวงทรงให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางดำเนินชีวิตสำหรับคนไทย โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี2540 ” บุญชัยเล่าถึงเหตุการณ์ปี 2540 ที่ทำให้ได้คิดน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทำให้องค์กรยั่งยืน
” สิ่งที่เกิดขึ้นกับดีแทคช่วงนั้น สอนให้เรารู้ว่าเราโง่ เรายืมเงินมาลงทุนเยอะ คาดหวังว่าจะดี ทั้งโง่และทั้งยอมรับว่าตนเองโง่ เมื่อเมื่อยอมรับแล้วว่าโง่ ต่อไปก็ฉลาดได้ ” อดีตเจ้าของดีแทคสารภาพด้วยบทเรียน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจดำเนินชีวิตของ บุญชัยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งเขาบอกว่า ” เพราะท่านคือพระมหากษัตริย์ที่เสียสละ และคำสอนของท่านทำให้เราเชื่อด้วยเหตุและผล ท่านทรงให้เรามีคุณธรรม ทำธุรกิจก็ต้องคิดถึงคุณธรรม แม้เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องผลประโยชน์ และกำไรก็ต้องมีคุณธรรม ”
ความเป็นองค์กรที่เน้นเรื่องกำไร เป็นหลักตามแนวทางของทุนนิยม บางครั้งอาจทำให้คุณธรรมขาดหายไป ทำให้ในที่สุด บุญชัย ยอมรับว่าไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับตัวเองที่จะเป็นนักธุรกิจในองค์กรขนาดใหญ่ ในเมื่อทัศนคติในการทำธุรกิจและระบบทุนนิยมของตัวเองเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงวิถีชีวิตส่วนตัว และรสนิยมของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปแล้วเช่นกันอย่างที่เห็นได้ใน พ.ศ.ปัจจุบัน
ที่มาของรูปภาพ : manager.co.th
อยากมีบทความดี ๆ แบบนี้ สั่งซื้อเลย รับเขียนบทความ 1000content.com