เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินวลีที่ว่าแม่ครัวหัวป่าก์กันมาแล้ว
แต่ทราบหรือไม่ว่าคำว่าแม่ครัวหัวป่าก์นั้นมีที่มาเป็นอย่างไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับอาหารไทย โดยคำว่าแม่ครัวหัวป่าก์นั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งที่ท่านได้ทำการเสร็จประพาสต้นไปยังจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อปี พ.ศ.2449 โดยชาวบ้านที่ตำบลหัวป่าก์ได้มีโอกาสทำอาหารถวายพระองค์ท่าน
ซึ่งอาหารในครั้งนั้นประกอบด้วยแกงบวน แกงมัสมั่น แกงบอน ขนมจีนน้ำยา ต้มปลาร้าหัวตาลและของหวาน คือ ขนมปิ้งสังขยา ทองหยิบ ข้าวตอกน้ำกะทิ เม็ดขนุนและฝอยทอง ซึ่งกลายเป็นที่โปรดปรานเป็นอย่างมาก ถึงกับพระราชทานชื่อเรียกคณะแม่ครัวในครั้งนั้นว่าแม่ครัวหัวป่าก์ ซึ่งยังมีตำนานที่เล่าขานกันว่ารัชกาลที่ 5 ทรงโปรดรสมือของแม่ครัวที่ทำอาหารถวายในครั้งนั้นมากถึงกับให้คุณหญิงโหมดนำอำแดงเกลี้ยง อำแดงหงส์ อำแดงอึ่งและอำแดงสิน มาเป็นแม่ครัวหลวงในวังอีกด้วย รวมถึงวลีคำว่าแม่ครัวหัวป่าก์ยังเป็นคำที่ติดพระโอษฐ์ของรัชกาลที่ 5 ทุกครั้งที่ส่งได้เสวยของอร่อย
นอกจากนี้คำว่าแม่ครัวหัวป่าก์ยังถูกนำมาใช้อีกครั้งในหนังสือสูตรอาหารไทยเล่มแรก ที่เขียนโดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ซึ่งเป็นภริยาของเจ้าพระยา ภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการในรัชกาลที่ 5 โดยเป็นตำราอาหารทั้งหมด 5 เล่ม ตีพิมพ์ในช่วงปี พ.ศ. 2451 – 2452 โดยให้ชื่อหนังสือว่าแม่ครัวหัวป่าก์ ซึ่งในปัจจุบันนับเป็นหนังสือที่หายากที่นักสะสมหนังสือล้วนอยากมีไว้ในครอบครอง
จากตำนานทั้ง 2 นี้ทำให้คำว่าแม่ครัวหัวป่าก์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่มีฝีมือในการปรุงอาหารไทยเป็นเลิศ จนกลายเป็นสรรพนามที่ให้เกียรติและยกย่องแม่ครัวที่มากฝีมือเหล่านี้มาอย่างช้านาน จนกลายเป็นวลีที่เคยชินของคนไทยไปแล้ว ซึ่งที่ตำบลหัวป่าก์ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ก็ยังคงมีกล่าวขานถึงตำนานของแม่ครัวหัวป่าก์อยู่ไม่ขาด โดยลูกหลานของแม่ครัวทั้ง 4 คนที่ได้มีโอกาสทำอาหารถวายรัชกาลที่ 5 ก็ยังคงนับถือเรื่องเล่าตำนานเรื่องนี้เป็นมงคลแห่งชีวิตและวงศ์ตระกูลอยู่จนทุกวันนี้แม้จะเข้าสู่ช่วงลูกหลานมา 4 ช่วงวัยแล้วก็ตาม
และทางจังหวัดสิงห์บุรีเองก็ได้มีการจัดเทศกาลอาหารสำคัญเป็นประจำทุกปีของจังหวัด ในช่วงเวลาที่เชื่อว่ารัชกาลที่ 5 ได้ใช้ในการเสด็จประพาสต้นคือช่วงปลายเดือนธันวาคมไปจนสิ้นเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งนับเป็นเทศกาลกาชาดและเทศกาลกินปลาที่สำคัญของจังหวัดสิงห์บุรีอีกด้วย