มาทำความเข้าใจเรื่อง พ่อ แม่ ลูก
หนุ่มสาวยุคใหม่มักตกลงปลงใจอยู่กินกันก่อนแต่งงานตามกระแสนิยม ไม่มีทะเบียนสมรส
แต่บังเอิญมีพยานรัก บางคู่อาจเลิกราโดยกะทันหัน และปัญหาที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ
ลูกจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใด หรือจะใช้นามสกุลใคร บทความนี้มีคำตอบค่ะ
ตามกฎหมายแล้วลูกที่เกิดมานั้นถือว่าเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายหญิงเสมอ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1546 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น”
แต่ว่าลูกที่เกิดมานั้นอาจจะไม่ใช่ลูกโดยชอบด้วยกฎหมายของพ่อเสมอไป
เพราะบางทีพ่อกับแม่อาจจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย
การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนี้ก่อให้เกิดผลทางกฎหมายหลายประการ
ทั้งต่อตัวมารดาและบุตรเอง เช่น ในเรื่องอำนาจปกครองบุตร อำนาจการจัดการ
ทรัพย์สินของบุตร การเป็นทายาทโดยธรรมในการรับมรดก เป็นต้น
“ในกรณีที่บิดาไม่ปรากฏ บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดา”
หรือหากภายหลังรู้ตัวว่าใครเป็นพ่อของเด็กแล้ว หากเด็กนั้นอายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์
แม่ของเด็กก็มีสิทธิที่จะฟ้องคดีแทนเด็ก เพื่อขอให้ฝ่ายชายรับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้
เนื่องจากการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จะมีสิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดูและ
ได้รับมรดกจากฝ่ายชายผู้เป็นพ่อด้วย แต่ถ้าเด็กอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว
จะต้องฟ้องคดีด้วยตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556
เมื่อลูกต้องอยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูของแม่แล้ว แม่ก็ย่อมต้องมีอำนาจที่จะปกครองลูกด้วย
ซึ่งกฎหมายกำหนดอำนาจให้แม่มีสิทธิ 4 ประการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 ดังนี้
1. กำหนดที่อยู่ของบุตร
2. ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
3. ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
4. เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในระหว่างที่ลูกยังเป็นผู้เยาว์อยู่นั้น แม่ยังต้องดูแล
จัดการในเรื่องทรัพย์สินของลูกด้วย และกฎหมายยังกำหนดด้วยว่า แม่จะต้องจัดการ
ทรัพย์สินนั้นด้วยความระมัดระวัง เช่น วิญญูชนจะพึงทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 1571
แต่ถ้ามีพ่ออยู่ด้วยก็ต้องช่วยกันจัดการทรัพย์สินร่วมของลูกด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม การดูแลจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์นี้หากแม่หรือพ่อ
หรือทั้งแม่และพ่อจะทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขาย ขายฝาก จำนอง
ให้เช่าที่ดินเกิน 3 ปี ให้กู้ยืมเงิน ให้โดยเสน่หา ประนีประนอมยอมความ
หรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยฯ นิติกรรมเหล่านี้จะต้องได้รับ
การอนุญาตจากศาลก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574
อาจมีข้อสงสัยอยู่ว่า ถ้าเกิดแม่ไม่มีอำนาจปกครองบุตร เช่น ถูกถอนอำนาจปกครอง
เนื่องจากความประพฤติไม่เหมาะสม หรือได้หย่าร้างกันและตกลงกันว่าให้ลูกอยู่กับ
ฝ่ายชายอย่างนี้ แม่จะมีสิทธิอย่างไรต่อลูกบ้างหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1584/1 บัญญัติว่า
“บิดามารดาย่อมมีสิทธิจะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแห่งพฤติการณ์ไม่ว่า
บุคคลใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจหรือผู้ปกครองก็ตาม” อำนาจปกครองของแม่ที่มีต่อลูก
ตามกฎหมายนี้ จะหมดสิ้นไปเมื่อลูกบรรลุนิติภาวะแล้ว
ที่มาของรูปภาพ : oknation.net
อยากมีบทความดี ๆ แบบนี้ สั่งซื้อเลย รับเขียนบทความ 1000content.com