
เปิดมุมคิดนักพัฒนาแห่งวงการไอที Sundar Pichai
สำหรับบางคนอาจจะเลือกที่จะหยิบยื่นเงินทองให้กับคนที่เราเห็นว่าด้อยโอกาส
จนบางครั้งเขาอาจลืมคิดไปว่า การยื่นปลาให้กินทุกวันนั้นไม่ได้มีประโยชน์หรือคุณค่าอะไรกับเขามากไปกว่าการที่เราสอนให้เขารู้จักวิธีจับปลากินเอง นั่นก็คือการให้ความรู้ และเช่นเดียวกัน คนบางคนเวลาพบเจอกับอุปสรรค หรือ ความไม่เท่าเทียมใด ๆ ในชีวิตก็มักจะโบ้ยให้กับโชคชะตา หรือ ฟ้าลิขิตมาให้ต้องใช้ชีวิตแบบนี้ แต่อันที่จริงแล้ว ถ้าคน ๆ นั้นมีความปรารถนาและต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตจริง ๆ เขาจะไม่มองโลกแบบนั้น ดูตัวอย่างจากมหาเศรษฐีแห่งเกาะฮ่องกง ลี กา ชิง ที่ชีวิตลำบากยากจนตั้งแต่เด็ก ไม่ได้เรียนหนังสือจนจบ ต้องออกมาทำงานเป็นเสาหลักให้น้อง ๆ แต่ด้วยความมุมานะ ขยัน และใฝ่หาความรู้ ทำให้เขาเลือกที่จะตื่นเช้าตี 4 ตี 5 มาอ่านหนังสือเก่า ๆ และหาโอกาสเรียนหนังสือเพิ่มเติมตอนเย็นหลังเลิกงาน เพื่อยกระดับความรู้ให้ตัวเองอยู่เสมอ ๆ จนทำให้เขาสามารถสร้างโอกาสและความมั่งคั่งทางการเงินให้กับตัวเองได้ในเวลาต่อมา หรือตัวอย่างความสำเร็จของนักบริหารที่ชื่อ Sundar Pichai หนุ่มสัญชาติอินเดียแห่งบริษัทไอทีชั้นนำระดับโลก Google ที่ตัวเขาเองก็เติบโตมาจากครอบครัวที่ยากจน อาศัยอยู่ในห้องเช่าขนาดเล็ก ๆ ที่เขาและน้องชายต้องนอนเบียดกันในห้องรับแขก การศึกษาที่ได้รับเกิดจากความขยันตั้งใจและเรียนดีระดับหัวกะทิ ทำให้เขาสามารถคว้าทุนการศึกษาและไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ทั้ง ๆ ที่ในตอนนั้นที่บ้านของเขาไม่มีเงินพอที่จะซื้อตั๋วเครื่องบินให้เขาด้วยซ้ำ พ่อของเขาจึงต้องไปกู้ยืมเงินมาเป็นค่าตั๋วเครื่องบินและแบ่งเงินอีกส่วนหนึ่งให้เขานำติดตัวไปเป็นค่าใช้จ่ายในต่างแดน แต่ใครเลยจะรู้ว่าเด็กที่ยากจนคนหนึ่งคนนี้ คนที่ดิ้นรนต่อสู้กับโชคชะตาและความยากจนจะมีมุมมองต่อการดำเนินชีวิตที่น่าสนใจมากคนหนึ่งค่ะ

เปิดมุมคิดนักพัฒนาแห่งวงการไอที Sundar Pichai
Sundar ได้ยกตัวอย่างวิธีการรับมือกับปัญหา
ในแบบของเขาด้วยหลักคิดที่ชื่อว่า “ทฤษฎีแมลงสาบ” โดยให้เราลองจินตนาการว่า ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง มีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ ในเวลาต่อมาก็มีแมลงสาบหมุดออกมาจากตรงไหนก็ไม่รู้ แล้วก็ไปเกาะที่ตัวของผู้หญิงคนนั้น ทันทีที่เธอรู้ตัวว่าแมลงสาบเกาะอยู่ เธอก็เริ่มกรีดร้องและกระโดดไปมาพร้อมกับใช้มือทั้งสองข้างปัดป้องตามตัว ท่าทางอาการของเธอในขณะนั้น ทำให้ผู้คนที่อยู่รอบข้างพากันหวาดระแวงไปด้วย และสุดท้ายแมลงสาบตัวนั้นก็บินออกจากตัวเธอไป แต่ดันไปเกาะที่ผู้หญิงอีกคนหนึ่งในโต๊ะเดียวกัน และผู้หญิงคนนั้นก็ทำวิธีเดียวกันกับผู้หญิงคนแรก คือหวีดร้องและเต้นไปมา ความวุ่นวายชุลมุนกำลังจะเกิดขึ้นมากกว่าเดิม ก็พอดีพนักงานเสิร์ฟเดินผ่านมาและตรงเข้าไปเพื่อจะช่วยลดความโกลาหล แต่ทันใดนั้น แมลงสาบก็โผบินเข้าหาตัวเขาทันที โดยบินไปเกาะที่ผ้ากันเปื้อนของเขา แต่ท่าทีของพนักงานเสิร์ฟกลับเป็นการยืนนิ่ง และจับสังเกตการเคลื่อนไหวของแมลงสาบว่ามันจะไต่ไปทางไหน จากนั้นเมื่อแมลงสาบเดินมาที่เสื้อเชิ้ตของเขา จังหวะนั้นเองเขาก็จับตัวมันไว้และเหวี่ยงมันออกจากร้านอาหารไป จากเรื่องนี้ สิ่งที่สร้างความวุ่นวายไปทั่วร้านอาหารนี้คืออะไร แมลงสาบหรือเปล่า ถ้าใช่แล้วทำไมพนักงานเสิร์ฟถึงไม่ร้องแต่กลับยืนนิ่ง ดังนั้น Sundar จึงแนะให้นำเรื่องราวนี้มาเปรียบกับเหตุการณ์ในชีวิตจริงของเรา ซึ่งแมลงสาบก็คือเรื่องกวนใจที่มักจะป่วนให้เราหัวเสียอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงบ่นจากหัวหน้างาน, คำพูดจาให้ร้ายจากคนอื่น หรือ แม้แต่รถติดบนถนน ก็สามารถทำให้เราหงุดหงิดรำคาญและพาลอารมณ์เสียได้ง่าย ๆ ดังนั้นวิธีแก้ที่ดีที่สุดก็คือที่ตัวของเรา ถ้าเราไม่ไปจมคิดกับแมลงสาบ ปัญหาก็จะดูเบา และแก้ไขได้ง่ายขึ้นเอง เป็นอย่างไรหล่ะค่ะ อึ้งไปเลยใช่มั๊ย เหมือนเส้นผมบังภูเขาเลยทีเดียว

เปิดมุมคิดนักพัฒนาแห่งวงการไอที Sundar Pichai
จากทฤษฎีแมลงสาบของเขา เมื่อนำมาพิจารณาถึง
ประสบการณ์ในการทำงานของ Sundar ที่อดีตเพื่อนร่วมงานของเขาเคยเล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อทีมพัฒนาระบบ Android ของ Google เลือกที่จะใช้บราวเซอร์ตัวอื่นที่ไม่ใช่ Google Chrome ในการใช้งานกับอุปกรณ์ของ Android ซึ่ง Sundar ในขณะนั้นทั้งสองทีมเกือบจะเกิดเป็นวิวาทะกัน แต่ Sundar ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมพัฒนา Chrome กลับนิ่งเฉยและก็ไม่ได้ไปคัดค้านหรือต่อว่าอะไรเพื่อนร่วมงาน และผลสุดท้ายในเวลาต่อมา Sundar ก็กลายเป็นคนทีได้รับช่วงงานพัฒนาระบบ Android แทน กลยุทธ์นี้ของ Sundar น่าจะเหมือนกับสุภาษิตโบราณที่ว่า ความเงียบสยบความเคลื่อนไหว นะคะ
สิ่งที่สะท้อนตัวตนของ Sundar ในวันนี้ได้เป็นอย่างดีนั้น นอกจากความมานะ ขยัน รู้จักแสวงหาความรู้และโอกาสอยู่เสมอแล้ว คงต้องยอมรับด้วยว่าชายชาวอินเดียคนนี้เป็นผู้ที่มีทัศนคติในการพัฒนาตัวเองที่ดีคนหนึ่งและเมื่อนำมารวมกับทฤษฎีแมลงสาบของเขาด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่า ทำไมเขาถึงก้าวขึ้นมาเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในวัย 43 ปีเท่านั้น เพราะแม้ความลำบากยากจนในชีวิตที่เริ่มจากศูนย์ก็ยังไม่สามารถสะกดกั้นเขาจากความสำเร็จได้เลยค่ะ