จากข่าวล่าสุดที่ที่เราได้รับรู้กันผ่านสื่อ นั่นคือข่าวการหย่าร้างและจ่ายค่าเลี้ยงดูมหาศาลของศิลปินดังท่านหนึ่ง คาดว่าคงมีหลายคนที่อยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับข้อบทกฎหมาย เพื่อประดับความรู้ไว้บ้าง ป้องกันการเสียเปรียบที่จะตามมาในอนาคต
เรื่องกฎหมายมักเป็นเรื่องยุ่งยากเสมอ แต่บทความนี้จะทำให้ทุกท่านเข้าใจได้ง่าย โดยไม่ต้องแปลซ้ำอีกรอบ
การตกลงเรื่องสินสมรส
การจัดการทรัพย์สินระหว่างสามี ภรรยา หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “สินสมรส” โดยหลักแล้วทรัพย์สินระหว่างสามี ภรรยาที่ได้มาในระหว่างที่การสมรสยังคงมีผลจะตกเป็นสินสมรสทั้งสิ้น เว้นแต่ได้มีการกำหนดไว้เป็นพิเศษตามเงื่อนไขของกฎหมาย ส่งผลให้เมื่อมีการสิ้นสุดการสมรสจึงต้องมีการตกลงแบ่งส่วน หรือจัดการทรัพย์สินดังกล่าวตามกฎหมาย หรือตามข้อตกลง
หากเป็นการหย่าโดยความยินยอม คู่สมรสมักมีการตกลงเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินไว้แล้วตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนหย่า การจัดการทรัพย์สินจึงไม่ใช่ปัญหาที่ตามมาหลังการหย่า แต่ในกรณีการหย่าโดยคำพิพากษา การจัดการทรัพย์สินมักเป็นปัญหาทั้งในขณะดำเนินคดีหย่าและสืบเนื่องมาจากการหย่า หากคู่สมรสมีสินสมรสที่จะต้องจัดการ คู่กรณีสามารถฟ้องเรื่องการแบ่งสินสมรสรวมไปในคำฟ้องคดีหย่าได้ด้วย ศาลจะพิจารณาทั้งสองประเด็นในคดีเดียวกัน แต่หากไม่ได้ฟ้องเรื่องการจัดการสินสมรสรวมไปในคดีหย่าด้วยแล้ว คู่กรณีก็จะต้องฟ้องเรื่องการจัดการสินสมรสแยกออกมาอีกคดีหนึ่ง
เหตุที่การจัดการเรื่องสินสมรสในกรณีการหย่าโดยคำพิพากษามีความยุ่งยากกว่าในกรณีการหย่าโดยความยินยอม นั้นก็เป็นเพราะเมื่อคู่กรณีไม่ได้เต็มใจที่จะหย่า ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าการตกลงในเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับการหย่าก็มักเป็นไปได้ยากเช่นกัน
แต่หากคู่สมรสนั้นได้เคยทำ “สัญญาก่อนสมรส” ที่มีข้อตกลงเรื่องสิทธิหน้าที่ระหว่างกันเอาไว้ หากสัญญาดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว สิทธิหน้าที่ระหว่างกันภายหลังการหย่าก็ย่อมบังคับตามสัญญาก่อนสมรสได้
การตกลงเรื่องอำนาจปกครองบุตร
มาตรา ๑๕๒๐ ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ
จากบทบัญญัติของกฎหมายจะเห็นได้ว่า เรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตรนั้น กฎหมายต้องการให้คู่สมรสตกลงกันด้วยความสมัครใจเสียก่อน แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ให้ศาลซึ่งเป็นคนกลางตัดสิน โดยยึดประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก
เมื่อการหย่าโดยคำพิพากษามีเหตุมาจากการที่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงสิ้นสุดการสมรสได้โดยสมัครใจ ย่อมนำมาซึ่งปัญหาการตกลงในเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องภายหลังการหย่า เรื่องการแย่งอำนาจปกครองบุตรก็เป็นอีกปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังคำพิพากษาให้หย่า คู่กรณีมักไม่ยอมตกลงกันในเรื่องดังกล่าว ทำให้เกิดข้อพิพาทที่จะต้องให้ศาลเป็นผู้ตัดสินอยู่เสมอ
การตกลงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู
ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี
กรณีที่มีการหย่าการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามี ภรรยา หรือระหว่างบิดา มารดากับบุตรก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่จะตามมา หากเป็นการหย่าโดยความยินยอมคู่สมรสที่ตกลงหย่ากัน มักจะทำการตกลงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูทั้งระหว่างคู่สมรสเองและบุตรไว้ด้วย
แต่ในกรณีการหย่าโดยคำพิพากษาเมื่อการหย่าเริ่มต้นมาจากความไม่สมัครใจ เรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูก็ย่อมมีปัญหาไม่สามารถตกลงกันได้ กฎหมายได้กำหนดเรื่องสิทธิในการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ว่า หากไม่สามารถตกลงกัน ให้ฝ่ายที่ควรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูเรียกร้องจากอีกฝ่ายได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะสามารถเรียกได้ตามที่ต้องการ เพื่อความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลในการพิจารณาค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับแล้วแต่กรณีไป
รวมไปถึงค่าเล่าเรียนของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกฎหมายได้กำหนดไว้เพื่อคุ้มครองประโยชน์เป็นพิเศษ ว่า “…ในกรณีขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เมื่อมีเหตุพิเศษและศาลเห็นเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์แก่บุตร จะกำหนดให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการใด ๆ นอกจากที่คู่กรณีตกลงกัน หรือนอกจากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอก็ได้ เช่นให้ไปอยู่ในสถานการศึกษาหรือวิชาชีพ โดยให้ผู้ที่มีหน้าที่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูออกค่าใช้จ่ายในการนี้”
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนของบุตรด้วยเช่นกัน สิทธิในการได้รับอุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมายนี้ ไม่สามารถจะสละหรือโอนแก่กันได้ ดังนั้นหากมีการตกลงไว้ตั้งแต่ก่อนทำการหย่าในทำนองที่ว่าจะสละสิทธิในค่าอุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมาย ข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่อาจบังคับแก่กันได้
ที่มาของรูปภาพ : manager.co.th
อยากมีบทความดี ๆ แบบนี้ สั่งซื้อเลย รับเขียนบทความ 1000content.com