ภาพ : Twitter.com
จากกรณีข่าวการตรวจเชื้อเอดส์ผิดพลาดของ น.ส. สุทธิดา แสงสุมาตร ซึ่งได้รับแจ้งว่ามีผลตรวจเชื้อเอชไอวีเป็นบวกมาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ทำให้ต้องทานยาต้านไวรัส และมีอาการผมร่วงอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ยังถูกตราหน้าจากสังคม และเป็นที่รังเกียจของเพื่อนฝูงจนทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน การดำเนินชีวิตตั้งแต่เด็กจึงผ่านมาด้วยความยากลำบาก
ภาพ : http://www.posttoday.com/social/health/497755
สุดท้ายในปัจจุบันมาตรวจพบว่าตนเองไม่ได้มีเชื้อเอชไอวีจากการตรวจการตั้งครรภ์ตั้งแต่ลูกคนแรก จนกระทั่งมีลูกคนที่สองก็มีการตรวจครรภ์อีก และไม่พบว่ามีเชื้อเอชไอวี หลังจากนั้นจึงเลิกทานยาต้านไวรัส และได้ทำการตรวจอีกครั้งที่สภากาชาดไทย ก็ยังคงไม่พบเชื้อเอชไอวีอีกเช่นกัน เมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้ จึงได้ออกมาขอความเป็นธรรมให้กับตนเอง และลูกทั้งสองคน เพื่อให้มีที่ยืนในสังคม นอกจากนี้ ยังได้มีการเข้าไปหารือกับ สธ. พร้อมกับทนายความนายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงกับแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทั้งหมด เพื่อให้เป็นคดีตัวอย่างแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ ให้ระมัดระวังและไม่ประมาทเลินเล่อ เนื่องจากการตรวจที่ผิดพลาดมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุผิดพลาดเช่นนี้อีก คือ หลังจากตรวจพบเชื้อเอชไอวี หรือผลเลือดเป็นบวกแล้ว ควรมีการตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยันผลตรวจ ซึ่งตามมาตรฐานของโรงพยาบาลในอดีต ผลตรวจจะมีความแม่นยำถึง 98% ซึ่งก็หมายความว่าผลตรวจมีโอกาสผิดพลาดได้ 2% ส่วนในปัจจุบันหากพบว่าผลตรวจเลือดเป็นบวก ควรมีการตรวจซ้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อยืนยันผลตรวจว่าติดเชื้อจริงหรือไม่ เนื่องจากยังคงพบว่าผลตรวจมีความผิดพลาดได้ 0.3% หรือแม้กระทั่งหากผลตรวจออกมาว่าไม่ติดเชื้อเอชไอวี ผลตรวจนั้นก็อาจเป็นผลลบปลอมได้ ซึ่งมีโอกาสผิดพลาด 0.3% ได้เช่นกัน
จริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจผู้เสียหายมาก เนื่องจากชีวิตที่ผ่านมาของ น.ส. สุทธิดาคงต้องดำเนินชีวิตแบบทนอยู่ และมีชีวิตเหมือนตกนรกทั้งเป็น เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ และสังคมไทยยังคงเป็นสังคมที่ไม่ยอมรับ มีความรังเกียจ และไม่อยากอยู่ใกล้กับคนที่เป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตาม หากเรามีโอกาสได้ศึกษาและได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป การพูดคุยหรือถูกเนื้อต้องตัวกันไม่สามารถทำให้ติดโรคนี้ได้ เราจึงสามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้โดยไม่ควรรังเกียจ เนื่องจากผู้ติดเชื้อมีความทุกข์จากการเป็นโรคนี้มากพออยู่แล้ว
ภาพ : http://www.amarintv.com/
สิ่งที่ควรป้องกันและระวังในการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยมีเพียงเลือด และน้ำหลั่งต่าง ๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย น้ำปัสสาวะ น้ำเหลือง และสิ่งขับถ่ายต่าง ๆ ควรใช้ภาชนะรองรับแยก และเป็นภาชนะที่ทำความสะอาดได้ง่าย หากมีการสัมผัสให้รีบทำความสะอาดรวมถึงเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที และนำเสื้อผ้าไปซักให้สะอาดก่อนนำไปใส่ในครั้งต่อไป นอกจากนี้ควรแยกใช้อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ของผู้ติดเชื้อ เช่น กรรไกรตัดเล็บ มีดโกน ฯลฯ รวมถึงถ้วยน้ำ จาน ชาม ช้อนส้อม นอกจากแยกใช้แล้วยังต้องล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้ และทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำไปใช้ในครั้งต่อไป