ใครที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นประจำต้องอ่านข่าวนี้เลยค่ะ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2559 ช่วงเช้าเวลาประมาณ 7.00 น. มีผู้โดยสารเป็นผู้หญิงเดินพลัดตกรางรถไฟฟ้าสถานีทับช้าง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ทำให้ต้องมีการหยุดให้บริการรถชั่วคราว โดยเปิดบริการเดินรถไฟฟ้าแค่เพียงสถานีลาดกระบัง หัวหมาก และพญาไทเท่านั้น ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางจากสุวรรณภูมิขอให้เลี่ยงใช้ขนส่งสาธารณะอื่นแทน ต่อมาในเวลา 8.36 น. มีการแจ้งว่าหญิงรายดังกล่าวได้เสียชีวิตลงแล้ว โดยสถานีรถไฟฟ้าทับช้างยังคงงดให้บริการเนื่องจากต้องรอเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานมาตรวจสอบรายละเอียดต่อไป
อ่านข่าวนี้แล้วก็มีอันต้องรู้สึกเสียวไส้กันมาก ยิ่งโดยเฉพาะผู้ที่ใช้บริการรถไฟฟ้าเป็นประจำ ควรจะต้องมีความระมัดระวังกันมากขึ้น สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ยังติดตั้งแผงกั้นระหว่างชานชาลาและรางรถไฟฟ้าไม่ครบทุกสถานี มีเพียงสถานีมักกะสันและสุวรรณภูมิเท่านั้นที่มี จึงมีลักษณะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง หากเดินไม่ระวังก็มีโอกาสตกลงไปในรางรถไฟฟ้าได้ แม้ว่าในกรณีของหญิงสาวที่เกิดเหตุนี้จะยังไม่มีการยืนยันว่าเป็นความตั้งใจที่จะเดินตกลงไปในรถไฟฟ้าเองหรือไม่ เพราะเท่าที่ดูจากภาพวงจรปิด เธอเดินตรงเข้าไปพอสามก้าวก็หล่นลงไปในรางเลย ไม่มีใครอยู่ใกล้บริเวณนั้นด้วย จึงไม่ได้เกิดจากการผลัก และไม่น่าใช่อุบัติเหตุเพราะไม่ได้เล่นมือถือ กรณีนี้แม้ว่า รปภ. จะกดปุ่มหยุดรถฉุกเฉินแต่ก็ไม่ทันเพราะรถไฟฟ้าได้แล่นผ่านทับตัวเธอไป เมื่อตรวจพบภายหลังพบว่าแขนขาดและเสียชีวิต ในส่วนของแผงกั้นเพื่อความปลอดภัยนั้นเท่าที่มีการชี้แจงจากรองกรรมการผู้อำนวยการบริษัทรถไฟฟ้า รฟภ. จำกัด อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา จะติดครบทั้ง 7 สถานีภายในเดือนเมษายน 2561 นี้
เช้าวันเดียวกัน รถไฟฟ้า BTS ก็มีเหตุเกิดขึ้นที่สถานีช่องนนทรี มีผู้โดยสารขาติดที่ช่องว่างระหว่างชานชาลาและขบวนรถไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ต้องหยุดขบวนรถชั่วคราวเพื่อทำการช่วยเหลือ มีการแจ้งว่ารถสายสีลมจะล่าช้า 10 นาที โชคดีที่รายนี้ไม่เป็นไรปลอดภัยดี
เรียกได้ว่าระทึกขวัญกันตั้งแต่เช้าวันจันทร์ที่เป็นวันเริ่มต้นทำงานของสัปดาห์กันเลยทีเดียว ความปลอดภัยจากการใช้รถไฟฟ้านั้น ขึ้นอยู่กับตัวของผู้ใช้งานเป็นสำคัญด้วย แม้ว่าสถานีรถไฟฟ้าจะมี รปภ. คอยดูแลอยู่แทบทุกสถานี แต่ด้วยปริมาณของผู้เดินทางจำนวนมาก ทำให้บางครั้งก็สอดส่องดูแลได้ไม่ทั่วถึง วันนี้เลยขอแนะนำวิธีการใช้รถไฟฟ้าอย่างปลอดภัยมาฝากกันค่ะ
- ควรยืนรอรถไฟฟ้าหลังเส้นเหลืองที่กำหนดไว้เท่านั้น
- ไม่หยอกล้อหรือเล่นกันบริเวณชานชาลารถไฟฟ้า
- รอจนกว่ารถไฟฟ้าจอดสนิท จึงก้าวขึ้นรถไฟฟ้า โดยรอให้ผู้โดยสารออกมาหมดก่อน ค่อย ๆ เดินอย่างมีระเบียบ ไม่แย่งกัน
- เมื่อมีสัญญาณร้องเตือนว่าประตูไฟฟ้ากำลังจะปิด ให้รีบก้าวเข้าไปยังตัวรถทันที ในขณะที่ประตูปิดไม่ควรวิ่งเข้าประตูรถ หรือยื่นอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเข้าไปในระหว่างประตูโดดเด็ดขาด
- ถ้ารถไฟฟ้าหนาแน่นมีผู้โดยสารเต็ม ให้ถอยมารอที่หลังเส้นเหลืองเพื่อรอขบวนถัดไป
- ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขึ้นหรือลงรถไฟฟ้า
- หากมีเด็กเล็กหรือรถเข็นเด็ก ควรใช้ควรระมัดระวังดูแลเด็กให้อยู่ในความควบคุม มือต้องยึดจับรถเข็นไว้ตลอดเวลา
ขอบคุณเครดิตภาพจาก
ภาพหน้าปก : http://www.khunnung.com
ภาพที่ 1 : http://www.posttoday.com/local/bkk/499114
ภาพที่ 2 : https://www.thairath.co.th/content/976998