‘รงค์ วงษ์สวรรค์ พญาอินทรีผู้บินลับไปจากสวนอักษรแล้ว ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของนวนิยายเรื่องนี้จากการที่ในช่วงวัยหนุ่มได้เข้าไปคลุกลคีอยู่กับบรรดาโสเภณีและแมงดา ฉะนั้นสนิมสร้อยจึงเป็นเรื่องจริงจากชีวิตจริงที่เกิดขึ้นในสำนักโสเภณีชั้นสูงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯราวปี 2496 และผู้เขียนซึ่งได้เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในซ่องแห่งนี้ก็หยิบเอาแมงดาอย่างก้านหนึ่งในตัวละครเป็นคนเล่าเรื่องแทนตัวเอง สนิมสร้อยเป็นนวนิยายขนาดยาวจัดเป็นงานระดับมาสเตอร์พีซของรงค์ วงษ์สวรรค์ ก่อนที่ต่อมาในปี2546 สนิมสร้อยจะถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยจรูญ วรรธนะสิน
รงค์ วงษ์สวรรค์ เกิดในเรือคลองมะขามเฒ่า แม่น้ำท่าจีน ชัยนาท อ่านหนังสือออกราวอายุ 4 ขวบไปเติบโตด้วยการเลี้ยงดูของยายที่โพธาราม ราชบุรี ก่อนเข้ามาเรียนอำนวยศิลป์รุ่นลมหวน ผ่านชีวิตทั้งเคยเร่ขายบุหรี่ทหารฝรั่งในช่วงสงครามโลก เคยคุมเรือโยง เคยคุมปางไม้ เคยเป็นพระรองในภาพยนตร์ เป็นคนปรู๊ฟสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ก่อนไปเป็นผู้สื่อข่าวในสหรัฐอเมริกาปี2506-2510ช่วงของการต่อต้านสงครามเวียดนาม และในปี2538ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ เขียนหนังสือมากกว่า 100 เล่ม บินลับฟ้าจากผู้อ่านไปเมื่อ 15 มีนาคม 2552
สนิมสร้อยนวนิยายว่าด้วยซ่องโสเภณีในยุคที่ยังไม่มีอาบอบนวด โดยมีพี่สมร เจ้าสำนักผู้มีการศึกษา และนายก้าน คนคุมซ่องผู้มีกิริยาสุภาพ ซึ่งศรัทธาพี่สมรเหมือนหมามีเจ้าของ เรื่องของผู้หญิงส่วนหนึ่งที่ไม่เพียงเพราะการศึกษาที่ต่ำหรือความยากจน หากยังถูกรังแกเอาเปรียบ ทั้งเรื่องของผู้ชายหลายอาชีพที่เข้ามาเที่ยว บางคนมาหารักแท้ บางคนมาเพื่ออวดเบ่ง และบางคนมาเพราะความเหงา รวมทั้งอีกหลายชีวิตที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคนในบ้านนี้ ทั้งเป็นการส่วนตัวและหน้าที่ตามกฎหมาย
สนิมสร้อย เป็นนวนิยายที่มีพล็อตเรื่องหลวมๆแบบจบในตอนแต่ก็เชื่อมโยงร้อยรัดเนื้อหาแต่ละตอนในหนังสือเข้าด้วยกัน พิมพ์ครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์เป็นตอนๆและได้พิมพ์รวมเล่มเป็นครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ผดุงศึกษาเมื่อเดือนมีนาคมปี2504 รงค์ วงษ์สวรรค์ ใช้ลีลาการเขียนผ่านภาษาที่คมคายทั้งขำและเจ็บคัน และแม้เรื่องราวจะวนเวียนเลี้ยวลดอยู่กับแต่โสเภณีการขายตัวยิ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้เขียนอย่างดูถูกเหยียดหยาม หรือลามกอนาจารแต่อย่างใดไม่
สนิมสร้อยอาจถือได้ว่าเป็นนวนิยายร่วมสมัยซึ่งบันทึกถึงโสเภณีไว้อย่างเปิดเปลือย รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนมหากาพย์โสเภณีเล่มนี้กว่าแปดเดือน เพื่อให้รู้จักชีวิตของตัวละครโดยกะเทาะชีวิตเลือดเนื้อของพวกเขาเหล่านั้นอย่างถึงแก่น ทั้งยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเท่าไหร่แล้ว หากแต่ภาพของโสเภณีก็ยังแจ่มชัดโดยศึกษาได้จากหนังสือเล่มนี้ ทั้งยังให้ความรู้สึกที่ว่าแม้แต่บรรดาคนซึ่งประกอบอาชีพประเภทนี้ยังรู้จักเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
และสำหรับคำสนิมสร้อย หากพลิกพจนานุกรมจะพบว่าคำนี้ หมายถึง หนักไม่เอาเบาไม่สู้ เหยาะแหยะ อ่อนแอ บอบบาง ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในทางตำหนิคนที่ไม่แข็งแรง ไม่จริงจัง หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ส่วนที่ผู้เขียนหยิบมาใช้ตั้งเป็นชื่อหนังสือเล่มนี้ก็ดูจะย้อนแย้งพอสมควร เพราะชีวิตโสเภณีที่สัมผัสได้จากนวนิยายเรื่องนี้ล้วนแล้วแต่เป็นหญิงสาวผู้สู้ชีวิต ทั้งจริงจังต่อชีวิต ทำงานหนัก ซึ่งอาจพูดได้ว่าหนักกว่าการไปเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงสักคนด้วยซ้ำจริงไม่ผู้อ่านก็ลองพิจารณาดู
อยากมีบทความดี ๆ แบบนี้ สั่งซื้อเลย รับเขียนบทความ 1000content.com