เชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่เข้าใจว่า ‘การทำวิจัย’ เป็นคำที่ใช้เรียกกระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ในความจริงไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาไหนศาสตร์ไหนต่างก็ต้องทำวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ถูกต้องเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะได้คำตอบคนละแนว แต่ทุกการวิจัยก็มีขั้นตอนในการทำวิจัยที่คล้ายคลึงกัน
ความหมายของการทำวิจัย
การทำวิจัยคือการใช้กระบวนการหรือข้อมูลที่มีความถูกต้อง เชื่อถือได้ และมีระเบียบแบบแผนชัดเจนเพื่อหาคำตอบตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยถ้าเป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จะอาศัยข้อมูลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง กระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และการวิเคราะห์ผลการทดลอง แต่หากเป็นการวิจัยทางสังคมจะอาศัยข้อมูลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง การเก็บข้อมูลทางสถิติ การเก็บข้อมูลความคิดเห็น และการประมวลข้อมูลทั้งหมดนำมาวิเคราะห์อย่างมีหลักการ โดยสรุปแล้วการวิจัยของการหาคำตอบของปัญหาที่สนใจ 1 เรื่อง จึงต้องอาศัยทั้งการตั้งคำถาม หาข้อมูล ขั้นตอนการศึกษา วิเคราะห์ผล และสรุปผลเพื่อนำไปสู่คำตอบที่ถูกต้อง
รวมทุกขั้นตอนการทำวิจัย เรื่องที่ต้องรู้ก่อนเริ่มต้น
สำหรับคนที่ยังไม่เคยทำการวิจัยมาก่อน เชื่อว่านอกจากไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นจากตรงไหนแล้ว ยังอาจทำวิจัยผิดวิธี เพราะไม่เข้าใจความสำคัญของแต่ละขั้นตอน ดังนั้นเพื่อให้คนที่กำลังวางแผนทำวิจัยเข้าใจในการทำวิจัยมากขึ้น วันนี้เราจึงมีขั้นตอนการทำวิจัยมาฝาก
- ค้นหาข้อมูลเพื่อเกี่ยวข้องกับการวิจัย
ก่อนเริ่มต้นลงมือทำการวิจัยสิ่งแรกที่ผู้ทำวิจัยทุกคนห้ามลืมอย่างเด็ดขาดคือ การค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการวิจัยที่ตั้งใจ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าหัวข้อที่สนใจมีการศึกษาแล้วหรือไม่ นอกจากนั้นยังเป็นการเก็บข้อมูลเบื้องต้นเพื่อนำไปใช้ในขั้นตอนการวิจัยอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น การตั้งสมมติฐาน การตั้งจุดประสงค์ และกำหนดแนวทางการวิจัย สำหรับการหาข้อมูลการวิจัยแนะนำว่าควรพิจารณาเฉพาะข้อมูลใหม่ล่าสุดจากแหล่งข้อมูลที่ได้รับการยอมรับ เป็นงานวิจัยจากบุคคลหรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ และที่สำคัญต้องสอดคล้องกับหัวข้อการวิจัย
- กำหนดหัวข้อวิจัย วัตถุประสงค์ และกรอบการวิจัย
หลังจากค้นคว้าและศึกษาข้อมูลจนครบถ้วนแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการกำหนดหัวข้อวิจัย วัตถุประสงค์ และกรอบการวิจัย ซึ่งนับว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากในการทำการวิจัย เพราะเป็นการกำหนดว่าการทำวิจัยในครั้งนี้คืออะไร เพื่ออะไร และมีขั้นตอนการทำวิจัยอะไรบ้าง สำหรับการตั้งหัวข้อจะเป็นเหมือนการตั้งคำถามของการวิจัยให้ชัดเจนขึ้น การตั้งวัตถุประสงค์จะเป็นการเขียนเพื่อให้รู้เป้าหมายของการวิจัยว่าทำเพื่อตอบคำถามใดบ้าง ส่วนการวางกรอบการวิจัยทำเพื่อกำหนดขั้นตอนการวิจัย จำนวน และคุณภาพของงานวิจัยที่ต้องการ
- การเก็บข้อมูลการวิจัย
การกำหนดวิธีการเก็บข้อมูลการวิจัยนั้นขึ้นอยู่กับสาขาที่ทำการวิจัย ในกรณีของการวิจัยสายวิทยาศาสตร์จะเก็บข้อมูลจากการทดลอง ส่วนกรณีของการวิจัยสายสังคมจะเน้นการเก็บข้อมูลจากการสำรวจและเอกสาร แต่ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยสาขาไหนสิ่งที่ต้องกำหนดเหมือนกันคือ การกำหนดข้อมูล แหล่งที่มาข้อมูล กลุ่มตัวอย่าง ตัวชี้วัด และวิธีการเก็บข้อมูล เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด เพราะหากมีความผิดพลาดจะส่งผลให้สรุปผลการวิจัยผิดพลาดได้
- การวิเคราะห์ผลข้อมูลการวิจัย
เมื่อเก็บข้อมูลการวิจัยจนครบถ้วนตามที่ได้ตั้งไว้ในกรอบการวิจัยเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ การวิเคราะห์ผล ซึ่งความสำคัญของขั้นตอนนี้คือการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลการวิจัยที่ได้เพื่อนำมาวิเคราะห์ด้วยอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และจัดกลุ่มข้อมูลหมวดหมู่ให้เข้าใจง่าย สำหรับข้อมูลการวิจัยจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ข้อมูลเชิงปริมาณหรือข้อมูลประเภทตัวเลข และ ข้อมูลเชิงคุณภาพ หรือข้อมูลที่ได้จากการสังเกต จดบันทึก สอบถาม หรือคำสัมภาษณ์
- สรุปผลการวิจัย
การสรุปผลการวิจัยถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำวิจัยทุกสาขา โดยผู้ทำวิจัยต้องนำข้อมูลการวิเคราะห์ที่ได้มาสรุปว่าสามารถตอบคำถามและวัตถุประสงค์ของการวิจัยได้หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้สิ่งนักวิจัยต้องทำคือ หาเหตุผลมาสนับสนุนว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น โดยใช้ข้อมูลงานวิจัยที่มีอยู่ก่อนแล้วเป็นข้อมูลอ้างอิงสนับสนุนข้อสรุปของตัวเอง สำหรับการเผยแพร่ผลงานก็ขึ้นอยู่ว่านำไปใช้ประโยชน์อย่างใด เช่นหากต้องการนำงานวิจัยไปใช้เพื่อจบการศึกษาควรนำผลงานวิจัยไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ งานสัมมนาวิชาการ หรือเล่มวิทยานิพนธ์ ส่วนการทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจจะต้องให้อยู่ในรูปแบบของรายงานสรุปงานวิจัยเพื่อให้ผู้ที่ว่าจ้างเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ในกรณีนี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ ยกเว้นกรณีได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้าง
จรรยาบรรณของการทำวิจัย
ในการทำวิจัยนอกจากกระบวนการและวิธีการทำวิจัยที่ถูกต้องแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่นักวิจัยทุกคนต้องพึ่งระลึกไว้เสมอคือ จรรยาบรรณในการทำวิจัย โดยมีข้อกำหนดสำคัญดังนี้
- ผู้วิจัยต้องมีความซื่อสัตย์และคุณธรรม ด้วยการไม่ลอกเลียนแบบงานวิจัยของผู้อื่น และที่สำคัญเมื่อมีการนำข้อมูลงานวิจัยของนักวิจัยท่านอื่นมาใช้ต้องมีการอ้างอิงถึงและมอบผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมเมื่องานวิจัยเกิดรายได้
- ผู้วิจัยต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่กำลังศึกษาวิจัยและใช้ความละเอียดรอบคอบในการวิจัย ไม่ว่าจะทำการวิจัยกับสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต
- ผู้วิจัยต้องปราศจากอคติส่วนตัว ไม่เปลี่ยนแปลงผลการวิจัยด้วยความลำเอียงเข้าข้างความคิดของตัวเอง เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นในภายหลัง
- ผู้วิจัยต้องนำผลงานวิจัยไปใช้ในทางที่ถูกต้อง ไม่ขยายผลจนเกินความจริงเพื่อให้เกิดประโยชน์ของตัวเอง
- ผู้วิจัยต้องยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นและนำมาปรับปรุงแก้ไขงานวิจัยของตัวเอง
จะเห็นได้ว่าการทำวิจัยทุกขั้นตอนมีความสำคัญเท่า ๆ กัน หากกำหนดหรือดำเนินการผิด นอกจากไม่สามารถตอบสิ่งที่สงสัยได้แล้ว ยังอาจทำให้ได้งานวิจัยที่ไม่ถูกต้องอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงควรศึกษาและวางแผนการวิจัยให้ละเอียดก่อนเริ่มทำการวิจัยทุกครั้ง เพื่อความถูกต้องของงานวิจัย
ที่มาข้อมูล
- https://www.enablesurvey.com/article-detail/d4784aa2-232b-4435-bcd8-89efb948cce3/research-topics
- https://www.enablesurvey.com/article-detail/0c3886f2-308d-4cd4-8499-2ed16230ceac/research-process
- https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/html
- http://www.jaturapad.com/resource/research
- https://ird.rmutto.ac.th/?page_id=2208
- https://www.thaiall.com/research/whatisresearch.htm