สำหรับวัยรุ่นยุค 1990 ที่เติบโตมากับ เทปคาสเซ็ท, วีดีโอ/ซีดีรอม, เครื่องเล่น เพลย์สเตชั่น และเกม PC ยุคแรก ๆ คงไม่มีใครไม่รู้จักห้าง “พันธุ์ทิพย์พลาซ่า” (Pantip Plaza) ประตูน้ำ ที่เป็นเหมือนนครหลวงด้านไอทีแบบครบวงจรของวัยรุ่นกรุงเทพฯ ยุคนั้น ไม่ว่าจะ ซื้อ ซ่อม หาชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ แผ่นหนัง แผ่นเกม ไปจนถึงอัพเดตข่าวสารใหม่ ๆ เกี่ยวกับแวดวงไอที ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในห้างที่ชื่อ ‘พันธุ์ทิพย์พลาซ่า’ รวมระยะเวลาเกือบ 30 ปี จนมาถึงวันนี้ ยุคสมัยเปลี่ยนไป ความต้องการและกระแสนิยมของคนก็เปลี่ยนตามเช่นกัน ทุกวันนี้แทบทุกบ้านมีอินเทอร์เน็ตไร้สาย สามารถรับรู้ข่าวสารแวดวงไอทีและเข้าถึงแหล่งสินค้าไอทีแบบ E-Commerce ได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่จำเป็นต้องไปเดินห้างเหมือนสมัยก่อน เหล่านี้ต่างส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ค่อย ๆ ซบเซาลงอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนในที่สุดก็เกิดข่าวสะเทือนใจชาวไอทียุค 90 เมื่ออดีตห้างไอทีเบอร์ 1 ของเมืองไทยประกาศปิดปรับปรุงเพื่อเปลี่ยนเป็น “ศูนย์ค้าส่ง” (AEC Trade Center) ถือเป็นการปิดตำนานห้าง ‘พันธุ์ทิพย์พลาซ่า’ ที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มากว่า 36 ปี ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงความทรงจำของผู้ที่เคยแวะเวียนเดินซื้อหาสินค้าไอทีในห้างแห่งนี้ วันนี้เราจะมาย้อนอดีต 36 ปีของ ‘พันธุ์ทิพย์พลาซ่า’ กัน
“พันธุ์ทิพย์พลาซ่า” จากจุดเริ่มต้นถึงยุครุ่งเรือง
พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ เปิดบริการครั้งแรกเมื่อปี 2527 ในชื่อห้าง ‘เอ็กเซล’ (Excel Department Store) ซึ่งถือเป็นห้างที่ออกแบบโดยสถาปัตยกรรมยุโรปร่วมสมัย โดดเด่นด้วยซุ้มประตูโค้งประดับจกด้านหน้า ด้านในยังมี ‘ลิฟท์แก้ว’ ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยในยุคนั้นอีกด้วย จนกระทั่งในปี 2530 ห้าง เอ็กเซล ก็ขายกิจการให้กับบริษัท ทีซีซี กรุ๊ป (TCC Group) ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเดียวกับแบรนด์เครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่าง ไทยเบฟเวอเรจ (Thai Beverage) ซึ่งได้ปรับปรุงห้าง เอ็กเซล เป็นศูนย์การค้าที่มีทั้งโรงภาพยนตร์และร้านอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะภัตตาคารอาหารจีนที่ถือว่าหรูหรามากในยุคนั้น แต่จุดเปลี่ยนของห้างนี้จริง ๆ เริ่มต้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’ ทำให้ห้าง เอ็กเซล ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีลูกค้ามาจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ห้างจึงเริ่มปล่อยพื้นที่ให้ร้านค้ารายย่อยเข้ามาเช่าขายของ ประกอบกับยุคนั้นถือช่วงที่สินค้าไอทีกำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนมากขึ้น ร้านค้าที่เข้ามาเช่าพื้นที่ในห้างส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นร้านไอทีและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สารพัดชนิด ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 50% ของร้านค้าทั้งหมด นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาห้างแห่งนี้จึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘พันธุ์ทิพย์พลาซ่า’ ศูนย์กลางด้านสินค้าไอทีที่ใหญ่ที่สุดและเป็นแห่งแรกของเมืองไทย ซึ่งมีลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการสูงสุดถึง 30,000 คนต่อวัน แต่ที่เด็ดยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ห้างพันทิปฯ ยังเป็นที่รู้จักกันฐานะแหล่งรวมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุคนั้น โดยเฉพาะ เทปผี ซีดีเถื่อน ซอฟแวร์เถื่อน รวมถึงหนังผู้ใหญ่อู้ๆอ้าๆทั้งหลายแหล่ เชื่อว่าหลายคนที่โตมากับการเดินเที่ยวพันทิปฯ คงคุ้นเคยกับคำถามสุดคลาสสิคที่มักเจอแทบทุกครั้งที่เดินพันทิปฯ ว่า “โป๊มั้ยน้อง/โป๊มั้ยพี่” แน่นอน จนแม้แต่ “เสก โลโซ” ซึ่งกำลังโด่งดังเป็นพลุแตกในยุคนั้นต้องแต่งเพลง “พันธ์ทิพย์” ที่เนื้อเพลงพูดถึงห้างและร้านค้าดัง ๆ ในยุคนั้นเพียบ แต่ “จะไม่ไปพันธ์ทิพย์” เพื่อแซวเรื่องสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั่นเอง
“พันธุ์ทิพย์พลาซ่า” ยุคซบเซาที่ยากจะปรับตัวได้
หลังจาก พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ยืนเด่นเป็นศูนย์กลางด้านไอทีของเมืองไทยมาสิบกว่าปี จนช่วงปี 2557 เป็นต้นมา ลูกค้าที่มาเดินซื้อหาสินค้าไอทีก็ค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น การจราจรในกรุงเทพฯ ชั้นในที่มีความหนาแน่นและติดขัดมากขึ้น ประกอบกับการเกิดขึ้นของห้างไอทีคู่แข่งกระจายอยู่หลายแห่งรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงการเข้ามาของ 3G/4G ธุรกิจ E-Commerce ที่สามารถสั่งซื้อสินค้าไอทีทางออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ว่าห้างจะพยายามปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ของลูกค้าด้วยการปรับปรุงครั้งใหญ่เมื่อปี 2557-2558 ด้วยงบกว่า 300 ล้านบาท เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และปรับ Mood and Tone ของห้างทั้งภายในและภายนอก รวมถึงปรับสัดส่วนร้านค้าภายในห้อง แบ่งเป็นไอที 70% และไลฟ์สไตล์ 30% แต่ก็ดูเหมือนเทรนด์การซื้อสินค้าไอทีของคนยุคนี้จะหมดยุคการไปห้างไอทีเพื่อเดินเลือกซื้อสินค้าหรือเปรียบเทียบราคาของแต่ละร้านไปแล้ว ในเมื่อทุกคนมีสมาร์ทโฟนที่สามารถทำทุกอย่างที่ว่ามาได้เองโดยไม่ต้องออกจากบ้าน แต่ห้างพันธุ์ทิพย์ฯ ก็ยังคงไม่ยอมแพ้ พยายามปรับตัวเฮือกสุดท้ายด้วยการปรับโฉม/รีแบรนด์ตัวเองใหม่อีกครั้งในปี 2559 ด้วยการเจาะกระแส E-Sport ยกระดับให้ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า เป็น E-Sport Arena สำหรับจัดอีเว้นท์แข่งขันกีฬา E-Sport แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ช่วยพลิกสถานการณ์ที่ซบเซาให้ดีขึ้นได้เลย จนในที่สุดปี 2563 ห้างพันธุ์ทิพย์ฯ ก็ประกาศปิดปรับปรุงอีกครั้ง คราวนี้ไม่ใช่แค่ปรับปรุง Mood and Tone เหมือนครั้งก่อน ๆ แต่เป็นการเปลี่ยนคอนเซ็ปต์หลักของห้างจากสินค้า “ไอที” ไปเป็น “ศูนย์ค้าส่ง” ที่รวมทั้งดีลเลอร์และผู้จัดจำหน่ายมาไว้ในห้างเดียว ถือเป็นการปิดตำนาน 36 ปี ของห้างไอทีที่อยู่ในความทรงจำของคนยุค 90 ไปโดยปริยาย หากมองในอีกด้านหนึ่งก็ต้องบอกว่านี่เป็นการเริ่มต้นตำนานบทบาทใหม่สำหรับห้างพันธุ์ทิพย์ฯ ที่อาจกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งดั่งเช่นอดีตก็เป็นได้
ที่มาข้อมูล
- https://thestandard.co/pantip-plaza/
- https://www.brandbuffet.in.th/2020/10/awc-launch-wholesale-hub-of-aec-trade-center-pantip-pratunam/
- https://www.gamingdose.com/feature/ปิดตำนานพันธุ์ทิพย์พลา/