เจอหมอฟันทีไรมีแต่เรื่องให้กลัวทั้งเจ็บทั้งเสียว หนึ่งในการทำฟันที่หลายคนไม่อยากจะเจอนั่นคือการผ่าฟันคุด เสียงเครื่องกรอฟันสุดน่ากลัว อุปกรณ์รายล้อมเต็มตัวไปหมด มีดพร้อม ยาชาจัดเต็มคนที่เคยผ่าฟันคุดมาแล้วจะรู้ดียิ่งกว่าผ่าสมรภูมิรบมาอย่างไงอย่างงั้น หลายคนอาจสงสัย “ทำไมฟันคุดต้องผ่าออกไปด้วยนะ…เก็บไว้ในปากไม่ได้หรืออย่างไร” เรามีคำตอบให้ครับว่า ฟันคุดส่งผลเสียอย่างไรกับเรา
- ฟันคุดชอบเบียดชนฟันข้างเคียง : โดยปกติแล้วฟันคุดจะเป็นฟันซี่สุดท้ายของแต่ละด้านทั้งฟันบนและล่าง ขากรรไกรของเรามักมีที่ไม่พอให้ฟันซี่สุดท้ายขึ้นมาตรงๆได้ในช่องปากจึงเกิดเป็นปัญหาไม่มีที่พอให้ฟันคุดขึ้นมาได้หรือถ้ามันจะขึ้นมาก็มักจะเบียดฟันซี่ข้างเคียง เมื่อปล่อยเวลานานเข้าแรงดันที่กระทำกับฟันข้างเคียงจะมากขึ้นรวมทั้งเศษอาหารทะยอยเข้ามาติดสะสมทำให้ฟันข้างเคียงที่โดนชนเป็นอันตราย ถ้าไม่รีบผ่าฟันคุดออกจะทำให้ในอนาคตฟันที่โดนเบียดนั้นจะต้องถอนออกไปอย่างน่าเสียดาย
- ทำความสะอาดช่องปากได้ยากยิ่งขึ้น : ฟันคุดที่สามารถขึ้นมาตรงๆได้ในช่องปากแล้วการดูแลช่องปากจะต้องพยายามแปรงฟันให้ถึงฟันซี่สุดท้ายเพราะเศษอาหารสามารถไปสะสมได้ง่ายถ้าปล่อยไว้นานเข้าจะทำให้ฟันผุได้ง่ายโดยที่เราไม่รู้ตัว ในกรณีแบบนี้ถ้าฟันสามารถขึ้นมาได้แล้วหมอฟันก็จะพิจารณาร่วมกับคนไข้ว่าจะเก็บฟันคุดไว้หรือไม่พร้อมกับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพฟันให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม
- ผ่าฟันคุดไปแล้วไม่ได้ทำให้ระบบการบดเคี้ยวของเราแย่ลง : หลายคนกลัวว่า ผ่าฟันคุดไปแล้วจะเคี้ยวอาหารได้ไม่ดี บอกได้เลยว่าคุณสามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ ไม่ได้ทำให้ฟังก์ชั่นบดเคี้ยวของเราแย่ลงไปเลยสักนิดแถมยังเป็นผลดีในการแปรงฟันได้ง่ายขึ้น
โดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่า การผ่าฟันคุดนั่นไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด เสียงตอนผ่าอาจจะดังไปนิด อาจเจ็บปวดอยู่บ้างหรือเสียวฟันอยู่หน่อย ลิ้นชาไปนิดๆก็ตามแต่ด้วยผลดีที่จะตามมานับว่าควรอย่างยิ่งที่เราจะไปผ่าฟันคุดกับหมอฟัน เพื่อการแปรงฟันง่ายมากยิ่งขึ้นดูแลช่องปากได้สะดวกขึ้น ไม่ทำอันตรายต่อฟันข้างเคียงรวมถึงไม่ต้องทนปวดตอนเวลาฟันคุดกำลังจะขึ้นดังนั้นแล้วคนที่มีอายุอยู่ในช่วงประมาน 17-20 ปีจะเป็นช่วงที่ฟันคุดกำลังจะเริ่มขึ้นให้รีบไปพบทันตแพทย์อย่าปล่อยไว้นานจนเป็นปัญหาต่อไป