ภาพ : www.youtube.com
เรื่องของคำพูดหากมีการแปลความหมายผิดก็ทำให้ผู้ฟังต่อ ๆ ไปเข้าใจความหมายผิดเพี้ยนได้ ดังในกรณีของ นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ได้ไปออกรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ของทางช่อง 3 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยในช่วงดีเบตมีการคุยกันในหัวข้อ บัตรทอง ทำลายสุขภาพคนไทย? ซึ่งในรายการวันนั้นนอกจากมี นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร จากกรมการแพทย์สภาแล้ว ยังมีนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมาร่วมรายการด้วย
ภาพ : http://www.komchadluek.net/news/people/281876
ทางรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ได้นำภาพของ นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร โพสต์ลงในสื่อออนไลน์รวมทั้งมีข้อความประกอบว่า บางคนมาที่โรงพยาบาลโดยไม่ได้ป่วย มานอนเล่นเนื่องจากมีที่พักและอาหารฟรี ทำให้ชาวเน็ตเกิดการเข้าใจผิด และวิพากษ์วิจารณ์นายแพทย์กันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นคำพูดของ นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ภายหลังเมื่อผู้สื่อข่าวจากเดลินิวส์ออนไลน์ได้เข้าไปฟังรายการดังกล่าว จึงทราบว่าคุณหมอไม่ได้พูดประโยคดังกล่าว เป็นการแปลความหมายผิด และนำมาโพสต์เป็นข้อความพร้อมภาพประกอบเพื่อลงในสื่อออนไลน์ของทางรายการ
ภายหลังทางรายการได้ขอโทษและแสดงความเสียใจต่อนายแพทย์อภิวัฒน์ และได้ชี้แจงกับประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งข้อความดังกล่าวที่ผิดพลาดมีผลกระทบต่อทั้งผู้พูดและผู้ฟัง โดยทำให้ผู้พูดได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก และทำให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจผิดได้ ทางด้านคุณหมอก็ต้องการให้อภัย และอยากจะให้โอกาสสื่อโดยไม่ได้คิดเอาผิดอะไร
คุณหมอยังเน้นย้ำในเรื่องของบัตรทองว่า บัตรทองยังคงต้องอยู่ต่อแบบมีคุณภาพ และยั่งยืนโดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยประชาชนต้องรู้จักดูแลสุขภาพของตนเองเพื่อลดความเจ็บป่วย เนื่องจากหากทุกคนเห็นว่าป่วยเป็นอะไรก็รักษาฟรี จะทำให้เกิดผลเสียต่อตนเอง ทำให้บัตรทองหรือความฟรีเป็นการทำลายสุขภาพของคนไทย บางคนทำลายสุขภาพของตนเองด้วยการหาเรื่องใส่ตัว เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน หรือการบาดเจ็บจากการไปทำร้ายผู้อื่นก่อน เป็นต้น คุณหมอจึงเห็นว่า หากมีการออกค่ารักษาพยาบาลเอง จะทำให้รู้สึกเสียดายเงิน เป็นการช่วยปรับปรุงพฤติกรรมของตนเอง และไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพด้วย
ภาพ : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000057678
นอกจากนี้ หากทุกคนช่วยกันดูแลสุขภาพของตนเอง นอกจากจะทำให้ตนเองสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลจากความเจ็บป่วยแล้ว ยังช่วยลดภาระและความเหน็ดเหนื่อยของแพทย์ นางพยาบาล และบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง และยังช่วยลดปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาล ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือหรือเพิ่มงบประมาณมากเท่าไร ปัญหาต่าง ๆ ก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งหากทุกฝ่ายเน้นการดูแลบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย และเน้นความพอดี ความพอเพียง จะทำให้บุคลากรต่าง ๆ ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนก็มีภาวะความเจ็บป่วยลดลง สามารถใช้เวลาในการทำมาหากินและพักผ่อนได้ โรงพยาบาลก็สามารถดำเนินต่อโดยไม่อยู่ในภาวะไม่มีเงินซื้อยาหรือขาดทุน