” เมื่อคุณตั้งเป้าว่าคุณจะต้องเป็นนัมเบอร์วันตลอดกาล คุณก็จะต้องเป็นนัมเบอร์วันตลอดกาล คุณก็จะต้องเดินหน้าเพื่อหนีห่างคู่แข่งของคุณไปเรื่อยๆตราบเท่าที่คู่แข่งเขาไม่หยุด ซึ่งบางทีคุณก็คาดไม่ได้หรอกว่าเป้ามันจะไปหยุดอยู่ตรงไหนเพราะไม่มีคำว่าสิ้นสุดสำหรับผู้ที่ต้องการครอบครองตำแหน่งหมายเลขหนึ่งไปเสียหมดอย่างนี้ ” อาจเป็นคำกล่าวที่สามารถนำไปผูกโยงได้บ้างไม่มากก็น้อยสำหรับคนที่มีเงินถึงห้าหมื่นล้าน
ปีนี้ชาตรี โสภณพนิช มีอายุ82 ปี เขาถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 14 ของมหาเศรษฐีเมืองไทยมีทรัพย์สิน 5.03 หมื่นล้านบาท เขาคือผู้ครอบครองอาณาจักรธนาคารกรุงเทพ ซึ่งได้รับตกทอดมาจากพ่อคือ ชิน โสภณพนิช เขาเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่ามักจะแสดงออกถึงความพยายามที่จะขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆราวกับว่าที่หนึ่งก็ดูต่ำต้อยเกินไปสำหรับเขา
นักธุรกิจอย่างชาตรี ชื่นชอบการเล่นเรือเร็ว ซึ่งว่ากันว่าเรือของเขาจะต้องเป็นเรือที่เร็วที่สุด หากเมื่อใดที่ทราบว่ามีเรือของคนอื่นเร็วกว่า เขาจะหาทางทุกวิธีที่เรือจะสามารถเร็วขึ้นและเป็นเรือที่เร็วที่สุดอีกครั้ง นี่จะเห็นว่าเขาเป็นนักแข่งขันอย่างเห็นได้ชัด เขาเชื่อมั่นในระบบที่ว่าผู้แข็งแรงกว่าย่อมมีชัยต่อผู้อ่อนแอ
ชิน โสภณพนิช พ่อของชาตรี เริ่มต้นอย่างคนมือเปล่ารอนแรมกลางทะเลจากซัวเถามาถึงประเทศไทยในสภาพเด็กหนุ่มนักแสวงโชค ช่วงแรกทำงานเป็นกุลี ก่อนขยับฐานะมาเป็นเสมียนในร้านค้า และต่อมาก็มีกิจการเล็กๆเป็นของตนเอง ซึ่งหัวใจของโครงสร้างธุรกิจของชินคือธนาคารกรุงเทพที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2487
” เขาทำการค้าบนพื้นฐานของความจริงใจต่อกัน ในประวัติของเขาจึงไม่ปรากฏเรื่องของการทรยศหักหลัง มีแต่เรื่องร่วมแรงร่วมใจกันสร้างธุรกิจแล้วแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรม และคนที่เขาช่วยเหลือนั้นก็มากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ” นั่นคือสิ่งที่คนกล่าวถึงพ่อของชาตรีในช่วงก่อสร้างอาณาจักร
ชาตรี โสภณพนิช ขึ้นรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพสืบต่อจาก บุญชู โรจนเสถียร เมื่อ13 มีนาคม 2523 ในช่วงระยะเวลา 10 ปี เขาแสดงบทบาทเสริมส่งให้ธนาคารกรุงเทพเจริญรุดหน้า ทั้งยังหล่อเลี้ยงกิจการส่วนตัวให้เข้มแข็ง ซึ่งประสบความสำเร็จทั้ง 2 ส่วน ทำให้ธนาคารกรุงเทพก้าวขึ้นครองตำแหน่งธนาคารใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศและของอาเซียน
11 สิงหาคม 2552 เจ้าสัว ชาตรี โสภณพนิช ประธานแบงก์กรุงเทพ ได้นั่งลงเขียนเรียงความถึงครูคนแรกในอาชีพนายธนาคารของเขา โดยเนื้อความมีว่า บุญชู โรจนเสถียร คือผู้ที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อธนาคารกรุงเทพได้เข้ามาปฏิรูปธนาคารด้วยวิสัยทัศน์ ทั้งเป็นคนที่ทำอะไรทำจริงและต้องทำให้ดีที่สุด
” ผมเรียนวิชาทำงานแบงก์จากท่าน ซึ่งเป็นคนเจ้าระเบียบมีแบบแผน ทำงานอย่างมีระบบ ได้เรียนรู้เรื่องการบริหารงานภายในอย่างลึกซึ้ง ซึ่งความรู้เหล่านี้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญให้กับผมในเวลาต่อมา ” คือสิ่งที่เจ้าสัวชาตรี พูดถึงครูคนแรกที่ชื่อบุญชู โรจนเสถียร
ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพบริหารงานโดยทายาทในรุ่นที่3ของโสภณพานิช มีชาติศิริ โสภณพนิช ลูกชายคนโตของเจ้าสัวชาตรี เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
ชาติศิริ เป็นคนมีบุคลิกภาพที่อ่อนโยน ซึ่งจากการที่ชาติศิริก้าวเร็ว ทำให้เขาถูกบีบคั้นให้แสดงความสามารถพิเศษอะไรบางอย่างออกมาด้วย ซึ่งเขาต้องเรียนรู้ และทำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเอง
” สำหรับตัวชาติศิริเอง ถึงแม้ว่าเขาจะพร้อมด้วยคุณสมบัติที่เราต้องการ แต่เนื่องจากเขามาเกิดในตระกูลโสภณพนิช และเป็นลูกชายของผม ความกดดันจากภายนอกจึงดูมีสูงกว่าที่ควรจะเป็นมากทีเดียว เขาจะต้องใช้ความพยายาม เพื่อพิสูจน์อะไรหลายๆอย่างมากขึ้นกว่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็น นักบริหารมืออาชีพอย่างแท้จริง ” ชาตรีกล่าวถึงลูกชายไว้ในจดหมายเหตุ
ชาติศิริเริ่มทำงานที่ซิตี้แบงก์นิวยอร์ก จากนั้นจึงเดินทางกลับมาทำงานที่ธนาคารกรุงเทพในปี 2529 เขาเป็นคนจริงจังกับงานถึงขนาดว่ามีเรื่องเล่ากันครั้งอยู่ที่ซิตี้แบงก์ ชาตรีเดินทางไปเยี่ยมลูกชายแต่ต้องนั่งรอนานเป็นชั่วโมง เพราะลูกชายไม่ยอมออกมาพบด้วยเหตุผลยังทำงานไม่เสร็จ
ชาติศิริก้าวเข้าธนาคารกรุงเทพโดยทำงานในส่วนพนักงานฝึกหัดสังกัดฝ่ายการพนักงาน ก่อนย้ายไปเป็นดีลเลอร์อาวุโสประจำสำนักเงินตราต่างประเทศ อีก 4 เดือนให้หลังไปเป็นเจ้าหน้าที่บริหารชั้นผู้ช่วยผู้จัดการ และปี 2531ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสำนักค้าเงินตราต่างประเทศ
1 ธันวาคม 2531 ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารชั้นรองผู้จัดการฝ่ายการตลาด พอเดือนกันยายน 2532 ขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด และรักษาการผู้จัดการสำนักจัดสรรเงิน ก่อนที่อีก 7 เดือนถัดมาได้รับผิดชอบงานบริหารการเงิน และการตลาด
4 มิถุนายน 2534 เป็นเจ้าหน้าที่บริหารชั้นรองผู้จัดการอาวุโส ตกเดือนเมษายน 2535 เป็นกรรมการธนาคาร และกรรมการบริหาร ถัดไปอีก 2 เดือนให้หลังขึ้นเป็นกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ จากนั้นอีก 1 ปีต่อมาดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
การใช้เวลาไม่ยืดเยื้อในการสืบทอดตำแหน่งสูงสุดดังกล่าว เกิดจากชาติศิริได้รับการฝึกฝน และบ่มเพาะวิทยายุทธ์จากปรมาจารย์ในธนาคารอย่างหนักหน่วง ซึ่งพี่เลี้ยงในยุคแรกๆของเขามีทั้ง พีระพงษ์ ถนอมพงษ์พันธ์ และดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย นอกจากนี้ยังมีครูอย่าง ประยูร คงคาทอง ดำรงค์ กฤษณามระ ปิติ สิทธิอำนวย หรือ วิระ รมยะรูป
ฉะนั้นการที่ชาติศิริมีพี่เลี้ยงคอยฟูมฟักที่ดีทำให้สามารถบริหารงานในธนาคารได้เป็นอย่างดี ประกอบกับเขาเป็นคนขยันเรียนรู้ เคารพผู้ใหญ่ และให้เกียรติคนอื่น ทำให้เส้นทางของนายธนาคารคนนี้ประสบความสำเร็จเหมือนยุคบรรพบุรุษ ซึ่งเขาก็ยอมรับตรงจุดนี้ ” แม้ภาระหน้าที่จะหนัก แต่ผมไม่หนักใจเพราะในธนาคารมีผู้บริหารชั้นยอดอยู่มาก ” นั่นคือวาทะทายาทรุ่น3ของโสภณพานิชผู้รับไม้ต่อจากพ่อและปู่
ที่มาของรูปภาพ : mfa.go.th
อยากมีบทความดี ๆ แบบนี้ สั่งซื้อเลย รับเขียนบทความ 1000content.com