ใครบ้างสักกี่คนที่จะล่วงรู้ว่าชุดชั้นในยี่ห้อดัง จินตนา มาจากชื่อของผู้ผลิตเองด้วยเหตุผลง่ายๆที่ว่า ฟังดูเป็นผู้หญิง และจดจำง่าย ในขณะที่ลูกชายฉีกแนวออกไปสร้างแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ ซาบีน่า ก่อนจะกลายเป็นศรษฐีหุ้นติดอันดับ 1ใน 5 ของประเทศด้วยมูลค่าเกือบห้าพันล้าน
วิโรจน์ ธนาลงกรณ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชุดชั้นในยี่ห้อ ซาบิน่า เขาเป็นบุตรชายคนที่ 2 ของ อดุลย์และจินตนา ธนารลงกรณ์
ปัจจุบัน วิชัย ธนาลงกรณ์ พี่ชายของวิโรจน์ บริหารกิจการของครอบครัวต่อจากพ่อ ส่วนวิโรจน์ผันตัวออกไปมาสร้างอาณาจักรด้วยแบรนด์ใหม่ของตนเองคือซาบีนา มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับบน ฉีกไปจาก จินตนา แบรนด์ต้นตำรับที่มีฐานลูกค้าในระดับกลางลงมาถึงระดับล่าง
ก่อนมาเป็นชุดชั้นในยี่ห้อดัง จินตนา เดิมพี่สาวของจินตนา ได้จ้างคนอื่นผลิตชุดชั้นในยี่ห้อ OK มาก่อน ต่อมามีปัญหาส่งงานให้ไม่ทัน พี่สาวจึงหันมาจ้างน้องสาวและน้องเขยคือจินตนาและอดุลย์แทน และเมื่อพี่สาวจะเลิกกิจการ อดุลย์กับจินตนา จึงขอเข้ามารับช่วงต่อและตั้งชื่อยี่ห้อใหม่ว่า จินตนา ซึ่งมาจากชื่อของเธอนั่นเอง
การตลาดในยุคแรกของจินตนา เธอจ้างเด็กที่เดินขายลูกเหม็นอยู่แถวตลาดสะพานหันให้มาขายชุดชั้นใน ต่อมาตลาดพาหุรัดเกิดขึ้น อดุลย์ จึงไปเปิดตลาดใหม่ นำชุดชั้นในจินตนาไปวางขายตามร้านขายเสื้อผ้า ซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทำให้ชื่อชุดชั้นในยี่ห้อจินตนาเป็นที่รู้จักและแพร่หลายมากขึ้น
ส่วนอีกกลยุทธ์ในการทำการตลาด ไอเดียการพีอาร์ที่แสนคลาสสิคในเกือบศตวรรษที่ผ่านมาคือ จ้างคนตัดสังกะสีเป็นแผ่น เจาะรูแล้วเอาเชือกคล้องใช้สีเขียนข้อความโฆษณาจินตนา ก่อนนำไปแขวนตามหน้าร้านขายเสื้อผ้าในตลาด ซึ่งต่อมาก็เริ่มมีลูกค้ามาซื้อไปขายในต่างจังหวัดตัวละ 8 บาท ทั้งการไปวิ่งรถส่งของที่ภาคใต้หลังจากนั้นก็มีพนักงานขายตรงตระเวนเอาชุดชั้นในใส่ตะกร้าไปขายตามหมู่บ้านและชุมชนต่างๆปรากฏว่าขายดีเป็นอย่างมาก
หลังประสบความสำเร็จ จินตนา ในยุคเจเนอเรชั่นที่ 2 และ 3 ได้สร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาอีก 4 แบรนด์ ได้แก่ จีน่า เจาะกลุ่มเด็กและกลุ่มวัยรุ่น , จันทนา เจาะตลาดตะวันออกกลาง , เมทินี จับตลาดระดับบนภายในประเทศ ร่วมกับนางแบบชื่อดัง ลูกเกด-เมทินี กิ่งโพยม และแบรนด์ ราฟาเอลา แนวแฟชั่นหรูหราเจาะลูกค้าระดับบนในตลาดต่างประเทศ โดยมี สาวิตรี ธนาลงกรณ์ ลูกสาวของวิชัยเป็นคนดูแล
ส่วนพิชชา ธนาลงกรณ์ ลูกสาววิโรจน์ ได้สานต่อธุรกิจพ่อด้วยการออกแบรนด์อีก 3แบรนด์นั่นคือ วิโอร่า ลองเจอเร , คริส คอลเลกชั่น และแมกกี้ เม ซึ่งมีการเติมแฟชั่นคู่ฟังก์ชันให้ชุดชั้นใน โดยพิชชา ได้หอบเอาวิชาความรู้และประสบการณ์ด้านแฟชั่นดีไซน์และมาร์เก็ตติ้งจากลอนดอนเข้ามาช่วยเสริมทัพในด้านการออกแบบ เป็นการต่อยอดธุรกิจอีกหนึ่งช่องทางในฐานะเจเนอเรชั่นที่สอง
เดิมทีพิชชาติดสอยห้อยตามพ่อมานั่งทำงานที่บริษัทตั้งแต่วัยเยาว์ ได้เห็นและค่อยๆซึมซับความเข้าใจถึงวิธีการทำงานจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเรียนทางออกแบบ ก่อนไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ฝึกงานกับมืออาชีพ พิชชาได้รับการปลูกฝังจากพ่อในฐานะผู้ที่จะเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจครอบครัวว่าจำเป็นต้องเรียนรู้งานทุกขั้นตอน
ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต หรือการตลาด พิชชาถูกหล่อหลอมให้กลายเป็นสาวมั่น กล้าลอง กล้าเสี่ยง อีกทั้งยังมีความเชื่อมั่นว่าการทำแฟชั่นไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบตลอดเวลา นี่เองคือแบ็กอัพชั้นเยี่ยมให้เธอนำเอามาใช้ในงานที่ต้องรับผิดชอบในตำแหน่ง แบรนด์เมเนเจอร์ ผู้จัดการตราสินค้า
ความที่ซาบีน่าทั้งผลิตและจัดจำหน่าย จึงถือเป็นโรงเรียนสั่งสมประสบการณ์ให้แก่ทายาทวิโรจน์ ได้เรียนรู้ระบบต่างๆที่ซับซ้อน ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การเย็บ ไปจนถึงการกระจายสินค้า และการมีทีมงานที่ดีและรู้ระบบจึงจำเป็นและได้ช่วยในการเสริมให้งานให้ราบรื่นไปในทิศทางที่ถูกต้อง
” หน้าที่ของแบรนด์เมเนเจอร์คือวางแผน ดูคอนเซ็ปต์สินค้า เพื่อให้แน่ใจว่ามันเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ รวมไปถึงการให้แรงบันดาลใจแก่พี่ๆ นักออกแบบ ดูวัตถุดิบ ดูสี ดูตั้งแต่ต้นจนจบ ” พิชชา อธิบายถึงหน้าที่ต่อซาบีน่า
ผู้บริหารวัย 23 ปีอย่างพิชชา ได้เปิดเผยต่อไปถึงการเลือกนำเอากลยุทธ์การตลาดแบบเดิมของรุ่นพ่อ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของซาบีน่ามาผสมผสานกับของตัวเอง นั่นคือยังคงเน้นตอบโจทย์ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มในราคาที่จับต้องได้ โดยใช้แฟชั่น และสื่อที่มีอยู่หลากหลายช่องทางเป็นตัวช่วย เพื่อยกระดับแบรนด์ให้เดินเข้าสู่ตลาดบนมากขึ้น
ซาบีน่าได้กำหนดเป้าหมายการตลาดไว้ 2 ระยะภายใต้หลักการ แฟชั่นควบคู่ฟังก์ชัน ในระยะสั้นเปิดตลาดกลุ่มอายุ 19-25 ปี นำดีไซน์ควบคู่มาร์เก็ตติ้ง มีโปรดักชั่นและเทรนด์ช่วยทีมการตลาด สื่อชัดเจนยิ่งขึ้น โปรโมทให้มากขึ้น หรือจะเรียกว่าการรีแบรนดิ้ง ต่อยอดทางการตลอด ขยายตัวในตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่แล้ว14 ประเทศให้กว้างมากยิ่งขึ้นควบคู่กับการใช้สื่อออนไลน์
การดำเนินธุรกิจของพิชชา ก้าวย่างไปบนปรัชญาและแนวคิดของพ่อซึ่งยังคงซึมซับต่อรุ่นสู่รุ่น มีการปรับใช้แผนการตลาดเพื่อต่อยอดให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ใช้โซเชียลมีเดีย สร้างอินสตาแกรม หรือเฟซบุ๊ก รับคำติชม หรือข้อสงสัย ทั้งหมดเติมเต็ม และนำจุดด้อย คำติชมมาปรับใช้ต่อผลิตภัณฑ์
การเป็นคนรุ่นใหม่ของพิชชา ซึ่งต้องเข้ามาทำงานกับคนรุ่นแรกอาจมีความคิด และมุมมองที่ไม่ได้ไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งกับข้อกังวลเรื่องนี้ทายาทวิโรจน์ บอกว่าเรียนรู้จากแนวทางที่พ่อได้สอนไว้ตั้งแต่แรกที่เข้ามาทำงานในบริษัท โดยเฉพาะเรื่องการให้เกียรติกัน และการไว้ใจซึ่งกันและกัน
” อาจจะดูแปลกๆบ้างที่เราอายุเพิ่ง 20 ปีนิดๆแต่ต้องมีลูกน้อง จริงๆไม่อยากใช้คำนี้ พ่อได้ให้แนวทางไว้ว่าควรไว้ใจลูกน้องบ้าง ไม่เช่นนั้นจะทำให้เราต้องทำงานเองทุกอย่างคนเดียว ไว้ใจในที่นี้หมายถึงการแบ่งสัดส่วนงานอย่างชัดเจนสำหรับคนที่ประสานงานกับเรา รู้ว่าหน้าที่ที่ต้องทำของเราคืออะไร และให้เกียรติเพื่อนร่วมงานทุกคน
ให้ถือว่าตัวเองก็เป็นพนักงานในบริษัทเหมือนกัน รวมถึงเอาใจเขามาใส่ใจเรา อุปสรรคมีไว้ให้แก้ไข และพร้อมจะเรียนรู้ถ้าเกิดปัญหา เพราะไม่มีใครที่จะไม่เจอปัญหาไม่ว่าเราจะทำอาชีพอะไรก็ตาม เตรียมตัวรับภาวะกดดันที่จะเกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิด กำลังใจของครอบครัวและเพื่อนร่วมงานดีมีส่วนช่วยให้ปัญหาต่างๆคลี่คลายได้ ” ผู้บริหารสาววัยไม่เต็มเบญจเพส เผยความรู้สึก
ที่มาของรูปภาพ : thailandexhibition.com
อยากมีบทความดี ๆ แบบนี้ สั่งซื้อเลย รับเขียนบทความ 1000content.com