เส้นทางสายไหมเป็นเส้นทางการค้าของจีนที่เชื่อมกับนานาประเทศมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในอดีตเส้นทางสายไหมทางบกเป็นเส้นทางการค้าขายระหว่างประเทศจีนกับประเทศทางแถบยุโรป และประเทศจีนกับประเทศทางแถบตะวันออกกลาง ซึ่งมีการขนส่งสินค้าเป็นลักษณะแบบกองคาราวาน ส่วนเส้นทางค้าขายทางทะเลประเทศจีนได้ทำการค้าขายกับประเทศอินเดีย อาหรับ และเปอร์เซีย
สำหรับบทบาทของประเทศทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีต เช่น ประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศพม่ามักเป็นประเทศที่เป็นพื้นที่ในการถ่ายลงสินค้า หรือที่เรียกว่าเป็นเมืองแลกเปลี่ยนสินค้าดังที่เราเห็นกันทางภาคใต้ของประเทศไทย เช่น หาดใหญ่ หรือปีนังของประเทศมาเลเซีย รวมถึงประเทศสิงคโปร์ด้วย
เมื่อเทียบเส้นทางสายไหมในอดีตกับเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ที่ประเทศจีนนำเสนอขึ้นมาใหม่นั้น ให้ความรู้สึกว่าเส้นทางสายไหมยุคใหม่มีความเป็นสากลมากขึ้นและเป็นคนละแบบกับเส้นทางสายไหมหรือการค้าแบบโบราณ นอกจากนี้ หากดูจากแผนที่ที่ประเทศจีนจัดทำขึ้น จะเห็นได้ว่าเส้นทางใหม่นี้ค่อนข้างไกลจากประเทศไทย เนื่องจากไม่มีเส้นทางผ่านมายังประเทศไทย ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการคนไทยที่จะต้องศึกษาและเรียนรู้เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 รวมถึงทำความเข้าใจวัฒนธรรมของชาวจีน เพื่อให้เราสามารถมีบทบาทและเข้าถึงการค้าในยุคใหม่ได้
สำหรับเส้นทางสายไหมยุคใหม่ที่จีนเป็นผู้ริเริ่มนั้นจะมีการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางการค้า 3 ทวีปซึ่งมีประเทศต่าง ๆ อยู่ถึงกว่า 60 ประเทศ ถึงแม้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีพื้นที่ติดกับเส้นทางทะเลใหญ่ ๆ แต่ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าใหม่ผ่านยุทธศาสตร์รองได้ เช่น แนวเขตอีสต์-เวสต์ คอร์ริดอร์ ซึ่งถือเป็นเส้นทางเศรษฐกิจคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมประเทศจีนเข้ากับประเทศอาเซียน และยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร เพื่อในอนาคตเชื่อมต่อไปยังประเทศลาว
สำหรับคนไทยหรือผู้ประกอบการคนไทยควรมีความตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้ และควรเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อย่างรอบคอบ ไม่ควรมองว่าโครงการต่าง ๆ เราเป็นผู้เสียผลประโยชน์หรือตกเป็นเบี้ยล่างทางเศรษฐกิจ ควรชั่งน้ำหนักให้ดีและมองว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายหรือไม่ เนื่องจากหากเราไม่ทำโครงการต่าง ๆ กับประเทศจีน ประเทศจีนยังคงมองว่ามีอีกหลายประเทศที่พร้อมจะทำโครงการต่าง ๆ ด้วย เช่น ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา เป็นต้น ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย
ประเทศไทยจะเกาะเส้นทางสายไหมยุคใหม่ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย รัฐบาลควรให้การสนับสนุนและเร่งพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูการค้าเชื่อมสู่ CLMV หรือกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับนโยบายเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 หรือ One Belt One Road ของประเทศจีน และประเทศไทยก็จะสามารถเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ของภูมิภาคนี้
ขอบคุณเครดิตภาพจาก
ภาพหน้าปก : https://www.thairath.co.th/content/500446
ภาพที่ 1 : http://www.winnews.tv/news/15612
ภาพที่ 2 : http://www.bbc.com/thai/international-39895478