เชื่อว่ามีหลายท่าน ที่รับไม่ได้กับพฤติกรรมของเจ้าหน้าฝ่ายเร่งรัดหนี้สินของสถาบันการเงินต่างๆ หรือหมายรวมไปถึงกลุ่มเจ้าหนี้นอกระบบ ที่ต่างคนต่างมีวิธีการทวงหนี้ที่เจ็บปวดและคุกคามเป็นพิเศษ บางท่านอาจรุนแรงถึงขั้นถูกข่มขู่เลยด้วยซ้ำ
ซึ่งทางกฏหมายก็ได้กำหนดบทบาทและขอบเขตการกระทำของพวกเขาเหล่านั้นไว้ดังนี้
การถูกทวงหนี้แบบโหด-เลว-ชั่ว ที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 323 ผู้ใดล่วงรู้ความลับของผู้อื่น แล้วเปิดเผยความลับนั้น โดยน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน ปรับ 1 พันหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ผู้นั้นผิดฐานหมิ่นประมาท จำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 328 ถ้าหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กระจายเสียงทุกชนิด บันทึกเป็นอักษร จำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบาท
มาตรา 337 บัญญัติว่า ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ ยอมให้ หรือ ยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่า จะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือ ของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำผิดฐานกรรโชก มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย
– ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่น ให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
– มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
ผู้กระทำต้องมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
จากหลักกฎหมายข้างต้น นักทวงหนี้ที่ใช้พฤติกรรม ตัวอย่างเช่น เขียนจดหมายข่มขู่ด้วยวาจาหยาบคายหรือเป็นเท็จ ทำร้ายร่างกาย ด่าทอ กักขัง ทำการรบกวนชีวิตประจำวัน เป็นต้น
หากกระทำต่อลูกหนี้หรือสมาชิกในครอบครัว เพื่อน บรรดาผู้ถูกทวงหนี้มีอำนาจแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มคนเหล่านั้นได้ทันที ถ้ามีการทำร้ายบาดเจ็บหรือกักขังหน่วงเหนี่ยว พวกเขาต้องรับโทษอาญาฐานทำร้ายร่างกายหรือทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพอีกคดีหนึ่งด้วย
ส่วนการส่งคำเตือนเรื่องหนี้ด้วยวิธีก้าวร้าวหรือจงใจประจานทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงด้วยวิธีใดๆ อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทก็ได้ กฎหมายคุ้มครองผู้สุจริตเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
อาวุธป้องกันอย่างดีก็คือเรื่องการร้องเรียนธนาคารแห่งประเทศไทย.. ซึ่งพวกทวงหนี้เหล่านี้จะกลัว เพราะถึงขั้นโดนเลิกจ้างจากธนาคาร หรือปิดบริษัทกันเลย
เจ้าหนี้แจ้งว่าจะส่งเจ้าหน้าที่มาทวงเงินในที่ทำงานของลูกหนี้ พูดง่ายๆก็คือ ตามทวงหนี้ถึงที่ทำงานกันเลยทีเดียว กรณีนี้ถ้าลูกหนี้ไม่อนุญาตให้เข้าพบ หากพนักงานทวงหนี้ยัง”หน้าด้าน”ฝ่าฝืน…ก็มีสิทธิ์เจอข้อหาบุกรุกได้เลย
นอกจากนี้เจ้าหนี้ยังมีการข่มขู่อีกหลายเรื่องที่เคยทำกันมาแล้วได้ผลเช่น ขู่ว่าจะอายัดเงินเดือน ทั้งๆที่ยังไม่ได้ส่งเรื่องฟ้องศาลเลย เจ้าหนี้จึงไม่สามารถอายัดเงินเดือนของลูกหนี้ได้ เพราะการอายัดเงินเดือนต้องมีคำสั่ง”อายัดเงินเดือน”จากหน่วยงานของรัฐฯ(เจ้าพนักงานบังคับคดี) และการอายัดเงินเดือนทำได้เต็มที่ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนลูกหนี้ และถ้ามีเจ้าหนี้อยู่หลายราย ก็ต้องแบ่งสรรปันส่วนกันไปภายใน 30 เปอร์เซ็นต์นั้นๆ…หรือเจ้าหนี้อาจต้อง”เข้าแถว”รอคิวการอายัดเงินเดือนต่อๆกันไป (ใครฟ้องก่อน ก็อายัดได้ก่อนเป็นคิวแรก ใครฟ้องช้า/ฟ้องทีหลัง ก็ต้องมานั่งเข้าแถวรออายัดเป็นคิวถัดไป)
การเป็นหนี้นั้นไม่มีโทษทางอาญา (กล่าวคือไม่มีโทษจำคุกหรือปรับนั่นเอง) หากมีใครมาขู่ว่าจะนำตำรวจมาจับหรือจะต้องถูกจำคุก ก็ไม่ต้องกลัว เพราะตำรวจไม่มีอำนาจจับกุมลูกหนี้ในเรื่องคดีแพ่งอยู่แล้วค่ะ
ที่มาของรูปภาพ : checkraka.com
อยากมีบทความดี ๆ แบบนี้ สั่งซื้อเลย รับเขียนบทความ 1000content.com