เห็นข่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เตรียมพุ่งเป้าเป็น Startup District พร้อมชูความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ แล้วก็แสนชื่นใจ ที่ได้เห็นสถาบันระดับอุดมศึกษาเล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญของการพัฒนานักศึกษาให้เกิดความตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจในอนาคต ที่จะต้องมีการวางแผน และเรียนรู้กระบวนการทางธุรกิจที่ไม่ได้มีแค่มิติของการค้าขายอย่างเดียว แต่จะต้องเกี่ยวเนื่องกับระบบเครือข่ายทางอินเทอร์เน็ตจึงจะประสบความสำเร็จได้ ตามนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมหรือ Thailand 4.0 มธ. จึงเป็นสถาบันอุดมศึกษาแรก ๆ ที่ประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจน ในการสนองนโยบายของรัฐบาล พร้อมผลักดันให้เป็น Startup District ที่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรง เพราะธุรกิจ Startup ถือได้ว่ากำลังมาแรงแซงทางโค้ง และสามารถเชื่อมโยงสู่ความสำเร็จทางธุรกิจได้ ซึ่งจากงานเขียนของ Paul Graham จาก Y Combinator ที่ได้ให้คำนิยามเกี่ยวกับ Startup ไว้อย่างน่าสนใจว่า Startup คือธุรกิจที่ต้องการความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยธุรกิจที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วนั้นจะต้องทำธุรกิจที่นำเสนอสิ่งที่เป็นที่ต้องการของตลาดที่มีขนาดใหญ่ และ มีความสามารถในการเข้าถึงตลาดที่ใหญ่นั้นได้ คิดดูว่าถ้าประเทศของเรามีศูนย์ที่สนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่างเป็นระบบ และพัฒนาให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สร้างสรรค์นวัตกรรมและธุรกิจก็จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน ที่น่าชื่นชมอีกเรื่องคือการเปิดโครงการธรรมศาสตร์สตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก ที่เป็นการโชว์ผลงานนวัตกรรมสตาร์ทอัพเยาวชนรุ่นใหม่ 33 ชิ้น ที่เป็นผลงานสามารถพัฒนาไปสู่ระดับโลกได้ พร้อมกับมอบรางวัลเพื่อให้สามารถพัฒนาและต่อยอดธุรกิจต่อไปได้ ยกตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ธุรกิจแอพพลิเคชั่นหาจุดฝากสัมภาระสำหรับนักท่องเที่ยว ธุรกิจโดรนตรวจสอบสุขภาพของพืชผลในไร่ หรือแม้กระทั่งธุรกิจบริการเตรียมความพร้อมในการจัดงานศพ เป็นต้น เห็นแต่ละหัวข้อแล้วก็ทึ่งกับความคิดของเด็ก ๆ ยุคนี้ และไม่แน่ว่าในอนาคตนักศึกษาเหล่านี้จะกลายเป็นผู้ที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของบ้านเราให้เจริญพัฒนาได้ต่อไป และเวทีนี้เองที่จะจุดประกายฝันของพวกเขาเหล่านั้นให้เกิดเป็นจริงได้ในอนาคต
ขอบคุณ มธ. ที่ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาศักยภาพตนเองเกี่ยวกับ Startup ที่นับวันก็จะยิ่งมีความสำคัญและเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการไม่เฉพาะแค่นักศึกษาเท่านั้นแต่ยังรวมถึงคณาจารย์ ผู้ประกอบการ และผู้สนใจอื่น ๆ จึงเป็นโครงการที่ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้มีต่อไป ขอบคุณสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ที่ให้การสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ “TCS – Thammasat Creative Space” ที่ช่วยให้ผู้สนใจได้สามารถเรียนรู้และเวิร์คชอปได้อย่างเต็มที่ทุกโซนความรู้ และจะขอเป็นอีกคนหนึ่งที่สนับสนุนสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ตลอดไปครับ
ขอบคุณภาพจาก : www.admissionpremium.com