ไปอ่านเจอบทความหนึ่งเข้าค่ะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับว่าแบรนด์สินค้าจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่ได้ในยุคดิจิทัลที่ผู้บริโภคได้กลายมาเป็นผู้เลือก เห็นว่าน่าสนใจดีเลยเอามาเล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าใครกำลังวางแผนการตลาดสำหรับแบรนด์สินค้าของตัวเองอยู่จะได้รู้ว่า สิ่งสำคัญที่เราต้องมองตอนนี้คืออะไร
เป้าหมายสูงสุดของแบรนด์สินค้าแต่ละแบรนด์ก็คือความสามารถในการครอบครองใจของผู้บริโภคให้ได้ เมื่อมองไปถึงวิธีการทางการตลาดที่เราคุ้นเคยกันดี ก็มีการโฆษณาทางทีวี ทำป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ติดไว้ให้มองเห็นเด่นชัด เช่น บริเวณทางด่วน หรือตามสี่แยกใหญ่ ๆ ซึ่งการโน้มน้าวหรือดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาสนใจหรือนำไปสู่การตัดสินใจซื้อ ด้วยวิธีเหล่านี้อาจไม่ได้เหมาะหรือใช้การไม่ได้กับผู้บริโภคในยุคปัจจุบันอีกต่อไป พูดง่าย ๆ ก็คือมันไม่ได้ผลนั่นเอง
คุณดั่งใจถวิล อนันตชัย ผู้หญิงเก่งที่ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ อินเทค ประเทศไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นและให้ข้อแนะนำในเรื่องนี้ไว้ โดยยกตัวอย่างแบรนด์สินค้า Toms ที่มีเป้าหมายในการแบ่งปันหรือ Share Purpose ที่ชัดเจน ภายใต้แนวคิด One for One คือถ้าเราซื้อรองเท้าแบรนด์นี้ 1 คู่ แบรนด์จะบริจาครองเท้า 1 คู่ให้กับเด็กที่ขาดแคลนทันที ด้วยแนวคิดที่แน่วแน่ชัดเจนและทำจริงนี้ ทำให้ผู้บริโภคมีการบอกกันผ่านปากต่อปากและผู้บริโภคทั่วโลกสามารถมีส่วนร่วมกับแบรนด์สินค้าได้ทุกเมื่อ นี่ถือเป็นตัวอย่างโมเดลในการสร้างธุรกิจให้เติบโตตามเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน
ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันต้องการความจริงใจหรือความ REAL จากแบรนด์ต่าง ๆ มากขึ้น มีอะไรซ่อนอยู่ในคำว่า REAL บ้าง ไปดูกันค่ะ
• R = Relationship ผู้บริโภคต้องการอะไรที่มากกว่าแค่ซื้อขายสินค้า แบรนด์สินค้าจึงต้องมีการสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย แบรนด์ที่สื่อสารกับลูกค้าด้วยความเข้าใจจะทำให้ลูกค้ารู้สึกดี นำไปสู่การตัดใจสินซื้อ เป็นลูกค้าประจำ หรือแม้แต่มีการบอกต่อเพื่อนฝูงให้มาซื้อของแบรนด์นี้ แม้ว่าราคาสินค้าจะแพงกว่าที่อื่นก็ตาม ตัวอย่างที่ดีของแบรนด์ที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าด้วยการสื่อสารก็คือ ร้านบิ๊กเต้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต
• E = Empower แบรนด์ที่จะเอาชนะใจผู้บริโภคได้ต้องให้ความสำคัญกับผู้บริโภคเป็นอันดับแรก ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเอง หรือคิดแต่ว่าตัวเองเป็นเจ้าของแบรนด์ แบรนด์สินค้าต้องโฟกัสไปที่ผู้บริโภค ต้องสร้างให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจและมีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเองด้วยคำมั่นสัญญาที่แบรนด์มีให้
• A = Authentic แบรนด์ที่น่าเชื่อถือจะเป็นแบรนด์ที่ถูกเลือก ในยุคดิจิทัลที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเช็คข้อมูลเชิงลึกของแบรนด์ได้อย่างมากมายนี้ ทำให้ไม่จำเป็นที่จะต้องพยายามสร้างภาพให้ดีเกินกว่าความเป็นจริง และที่สำคัญเมื่อทำอะไรผิดพลาด หากแบรนด์แสดงความซื่อสัตย์ด้วยการชี้แจง ขอโทษ และยอมรับ ผู้บริโภคก็พร้อมที่จะเข้าใจ ให้โอกาส และลืมข้อผิดพลาดเดิม ๆ ไปได้ เหมือนอย่างกรณีคลิปของ Change.org ที่มีนา โชติคำ ตัวละครเอกในคลิปที่ไม่มีตัวตนจริง ๆ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก แต่สุดท้ายเมื่อมีการออกมาขอโทษและชี้แจง เรื่องทุกอย่างก็จบลงด้วยดี
• L = Legacy แบรนด์สินค้าต้องทำสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคจดจำเราให้ได้ มันต้องยิ่งใหญ่ถึงขนาดเหมือนกับว่าประวัติศาสตร์จะจารึกเราเอาไว้อย่างไรประมาณนั้นเลย ตัวอย่างของความยิ่งใหญ่ที่เชื่อว่าทุกคนจะไม่มีทางลืมและจะกลายเป็น Legacy ที่ติดตัวคน ๆ นี้ไปตลอดกาลก็คือการที่ตูน บอดี้สแลม ทำให้คนลุกขึ้นมาออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพของตัวเองและทำอะไรเพื่อคนอื่น
คุณดั่งใจถวิลทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า แบรนด์ที่จะมัดใจผู้บริโภคได้ในยุคดิจิทัลจึงต้องเป็นแบรนด์ที่ REAL คือมีความจริงใจ มีแก่น ต้องสร้างความแตกต่าง และที่สำคัญต้องทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้
เคยมีคนพูดเอาไว้ว่า โลกเราในวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เป็นความจริงอย่างที่สุด โลกเราก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลทำให้ผู้บริโภคมีพลังและมีทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องมือดิจิทัลเป็นกลไกสำคัญที่ผู้บริโภคจะสื่อสารความคิดเห็นของพวกเขาต่อแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ได้โดยตรงและเข้าถึงวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว แบรนด์สินค้าจึงต้องปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้ให้ได้ จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคให้ได้
อ้างอิงข้อมูล http://thumbsup.in.th/2017/11/howto-engage-consumer-in-digital-era/