ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ และเต็มไปด้วยความเครียดของคนเมือง ทำให้โรคกรดไหลย้อนกลายเป็นโรคคุ้นหูสำหรับคนในเมืองไปแล้วน้อยคนนักมักจะไม่เคยได้ยินชื่อโรค “กรดไหลย้อน” มาก่อนเลยในชีวิต
วันนี้จึงขอเล่าถึงสาเหตุ และแนวทางการปฏิบัติตัว เพื่อให้ห่างไกลจากโรคไม่ร้ายแรง แต่พอได้เป็นแล้วก็แสนจะทรมาน จนต้องหายามารักษาทันที
ไลฟ์สไตล์คนเมือง ที่เอื้อต่อการเป็นโรค “กรดไหลย้อน”
– มีความเครียดสูง ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ
– รับประทานอาหารมื้อหลักได้ไม่ถึง 4 ชม. ก็เข้านอน
– รับประทานอาหารที่ไม่ไขมันสูง อาหารรสจัด เครื่องดื่มคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม
– ใส่เสื้อผ้ารัดรูป หรือรัดเข็มขัดแน่นจนเกินไป
– มีน้ำหนักเกิน หรือมีรูปร่างอ้วน
ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด คือการเพิ่มความเสี่ยงจะทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน จากนี้มาลงรายละเอียดกันดีกว่า ว่าไลฟ์สไตล์ของคนเมืองจะเกี่ยวข้องกับสาเหตุของการเกิดโรคกรดไหลย้อนได้อย่างไร
สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease: GERD)
เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหารเนื่องจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติมีอาการคลายตัวหรือหูรูดเปิดมากเกินไปทำให้กรดหรือของเหลวสามารถไหลจากกระเพาะอาหารกลับขึ้นไปสู่หลอดอาหารได้
ซึ่งปัจจัยที่จะกระตุ้นให้หูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายกั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพราะอาหารทำงานผิดปกตินั้น มีอยู่หลายประการด้วยกัน
ความอ้วน หรือการมีน้ำหนักเกิน จะส่งผลให้มีความดันในช่องท้องสูง เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย
การใส่เสื้อผ้ารัดรูป เข็มขัดที่รัดแน่น และการเข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จ เป็นการไปเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารและกรดในกระเพาะย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดลมได้ง่าย
การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะได้นาน กระเพาะทำงานหนัก และหลั่งกรดมากอย่างต่อเนื่อง
การรับประทานอาหารรสจัด ทำให้กระเพาะเกิดอาการระคายเคือง กระตุ้นให้หลั่งกรดมากขึ้น
การดื่มน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจัด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไปกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งกรดมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้
การสูบบุหรี่ สารพิษในบุหรี่ทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น และทำให้หูรูดอ่อนแรง
อาการของโรค “กรดไหลย้อน”
ผู้ป่วยเป็นโรคนี้ มีอาการพื้นฐาน คือ อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งมักจะแสบร้อนมากหลังรับประทานอาการมื้อหลัก เมื่อโน้มตัวไปข้างหน้า ยกของหนัก หรือนอนหงาย อาจมีน้ำรสเปรี้ยว หรือน้ำรสขม ไหลย้อนขึ้นมาในปาก เมื่อผู้ป่วยมีอาการเช่นนั้นยู่บ่อยๆ จะทำให้มีผลต่อหลอดอาหารไปด้วย เช่น หลอดอาหารอักเสบ มีเลือดไหลออกจากหลอดอาหาร กลืนติด กลืนลำบาก นอกจากนั้นยังมักมีอาการท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อยๆ หืดหอบ ไอแห้งๆเสียงแหบ เจ็บคอ ซึ่งมักจะมาจากการที่กรดไหลย้อนขึ้นมาถึงบริเวณกล่องเสียง ส่งผลให้กล่องเสียงอักเสบ
แนวทางการรักษาและการปฏิบัติตัว
– ควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้มากหรืออ้วนจนเกินไป
– หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
– หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และน้ำผลไม้รสเปรี้ยว
– หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
– หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
– หลีกเลี่ยงอาหารสจัด ไม่ว่าจะเป็นอาหารมีรสเปรี้ยวจัด หรือเผ็ดจัด
– หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อเย็นในปริมาณมาก และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรรออย่างน้อย 4 ชม. จึงจะเข้านอน (ซึ่งข้อนี้อาจจะยากสำหรับวิถีชีวิตคนเมืองของใครหลายๆคน ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป)
– ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปมากหรือไม่ใส่เข็มขัดรัดแน่นจนเกินไป
– ควรรับประทานอาหารในปริมาณน้อย แต่บ่อยครั้ง
– ปรับหมอน หรือหนุนหัวให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว
– ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เคล็ดลับสำหรับมื้อก่อนนอนของคนเมือง
สำหรับพนักงานออฟฟิตหลายคน มักจะเลิกงานค่ำๆ ดึกๆ จนเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว และจะต้องรับประทานมื้อดึก มื้อค่ำบ่อยๆ อาจคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะทิ้งระยะห่างก่อนจะเข้านอนได้ถึง 4 ชม. จะให้แวะรับประทานอาหารละแวกบริเวณสถานที่ทำงานก่อนกลับบ้าน ก็เกรงว่ากว่าจะฝ่าการจราจรกลับไปถึงบ้านของเราได้นั้น ก็คงจะต้องหิวอีกรอบเสียแล้ว แบบนี้จะให้ทำอย่างไร!? ย้อนกลับขึ้นไปในแนวทางการปฏิบัติตัวข้างต้น “หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อเย็นในปริมาณมาก” และ “ควรรับประทานอาหารในปริมาณน้อย แต่บ่อยครั้ง” สองข้อนี้ช่วยได้มาก หากแต่ต้องแข็งใจ ไม่ตามใจปากตัวเองมากจนเกินไป
อาหารมื้อเย็น หรืออาหารมื้อก่อนนอน ควรรับประทานสิ่งที่ย่อยง่าย ในปริมาณพอเหมาะจะทำให้ไม่หิวโหย หลับได้ไม่ปวดท้องทรมาน ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ถ้าทำแบบนั้นได้ ไม่ต้องรอถึง 4 ชม. ก็เข้านอนหลับฝันดีอย่างแน่นอน ทดลองทำกันดูนะ
สำหรับโรคกรดไหลย้อน หากเราใส่ใจจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้อง และเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาตั้งแต่ในช่วงแรก จะไม่เป็นปัญหาลุกลามต่อเนื่องไปสู่โรคอื่นๆที่ร้ายแรงกว่า สุดท้ายนี้ขอให้ใช้ชีวิตคนเมืองด้วยสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลจากโรคฮิตโรคนี้กันทุกๆคน